Fed Funds Target Range
Actual: 0.00-0.25% Previous: 0.00-0.25%
KTBGM: 0.00-0.25% Consensus: 0.00-0.25%
-
-
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศปรับลดการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) จากระดับ ณ ปัจจุบัน เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามคาด ทั้งนี้ การปรับลดคิวอีสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
-
-
-
ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่า การปรับลดคิวอีไม่ได้สะท้อนว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วนี้ และย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเหมาะสม หากตลาดแรงงานสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้นตามคาด
-
-
-
เราคงมุมมองที่ต่างจากตลาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสแรกปี 2023 ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะการจ้างงานของคนทุกเชื้อชาติฟื้นตัวได้ดีขึ้น สู่ระดับก่อนวิกฤติ อย่างไรก็ดี เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2022 ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด รวมถึงตลาดแรงงานฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้
-
-
-
จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์และค่าเงินบาทได้ โดยเงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้น 6 เดือนก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด ซึ่งอาจกดดันเงินบาทได้ในช่วงปลายปี 2022
-
-
-
Next FOMC Decision: Dec 16 2021 (2 AM BKK)
-
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25%
-
FOMC มองกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดของ Delta ที่ผ่านมาทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจชะลอลงมาบ้าง นอกจากนี้ เฟดมองว่า เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนั้นเกิดจากปัจจัยชั่วคราว โดยในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาความไม่สมดุลระหว่าง Supply & Demand จากผลกระทบช่วงการระบาดและการเปิดเมืองได้หนุนให้ราคาสินค้าบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ดี FOMC มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังขึ้นอยู่กับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งการเร่งแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงปัญหาด้าน Supply Chain ที่คลี่คลายลงจะช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจและช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ ทั้งนี้ เฟดจำเป็นต้องคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจและส่งผลให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งการจ้างงานและการรักษาเสถียรภาพด้านราคา (เงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว)
-
นอกจากนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นมาก FOMC จึงประกาศลดการซื้อสินทรัพย์หรือคิวอีในอัตราเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และลดการซื้อ Agency MBS 5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดีเฟดได้ระบุว่า การลดคิวอีนั้น สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
-
ทั้งนี้ในส่วนการแถลงของประธานเฟด ประธานเฟดได้เน้นย้ำจุดยืน “ไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย” โดยประธานเฟดได้ระบุว่า การปรับลดคิวอี ไม่ได้สะท้อนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในเร็วนี้ นอกจากนี้ ประธานเฟดยังได้ย้ำว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะมีความเหมาะสมมากขึ้น หากการจ้างงานในสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน
เราคงมุมมองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ในไตรมาสแรกปี 2023 สวนทางกับมุมมองของตลาด แต่มีโอกาสที่จะขึ้นได้เร็วกว่านั้น หากตลาดแรงงานฟื้นตัวเร็วและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด
-
เราเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด คือ การจ้างงาน ดังนั้น เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย ได้ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว การจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจนอัตราการว่างงานของคนอเมริกันทุกเชื้อชาติ ปรับตัวลดลงสู่ระดับก่อนวิกฤติ COVID อย่างไรก็ดี เราเห็นว่า มีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว หากทั้งการจ้างงานฟื้นตัวได้เร็ว และ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด โดยในประเด็นเงินเฟ้อนั้น เรามองว่า ปัญหาด้าน Supply Chain ยังมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ เนื่องจากทางการจีนยังมีนโยบาย Zero COVID ทำให้ การเปิดท่าเรืออาจมีการสะดุดลง หากมีการระบาดของ COVID ระลอกใหม่ หรือ การเคลียร์สินค้า ณ ท่าเรือ ก็ยังคงใช้เวลานานกว่าปกติ จากมาตรการควบคุมการระบาด ทั้งนี้ เรามองว่า ถ้าเฟดเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนาน แต่การจ้างงานยังฟื้นตัวไม่ดีตามเป้า เฟดอาจจะเลือกปรับลดคิวอีในอัตราที่มากขึ้น แทนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ตลาดการเงินอาจไม่ได้ผันผวนไปมากนัก
-
อย่างไรก็ดี ต้องจับตาแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างใกล้ชิดต่อ เพราะเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าราว 3-4% ในช่วง 6 เดือนก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จากสถิติในอดีตของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด อาจส่งผลกระทบให้เงินบาทผันผวนในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าได้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยก็ต้องลุ้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ เรามองว่า หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังปีหน้า ก็อาจไม่ได้กดดันเงินบาทมากนัก และเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเราประเมินว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2023 (ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากประมาณการในเดือนตุลาคม เนื่องจากมีการปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยเฟด จากไตรมาสที่ 2 ปี 2023 เป็น ไตรมาสที่ 1)