-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังตลาดคลายกังวลปัญหาการเจรจาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ (Debt Ceiling)
-
ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อมุมมองเศรษฐกิจและแนวโน้มการลดคิวอี หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls: NFP) ล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก
-
เงินดอลลาร์ อาจเริ่มอ่อนค่าลงได้ หลังตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและหากเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจหรือเริ่มมองว่าเฟดยังไม่ควรรีบลดคิวอี ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อได้ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่บ้างจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความกังวล Stagflation และ ปัญหาหนี้ Evergrande (HK:3333) ส่วนทางด้านเงินบาท ควรจับตาการประมูลบอนด์ที่จะถึงนี้ เพราะหากดีมานด์ดีกว่าคาด อาจช่วยให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในบอนด์ไทยและหนุนเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีปัจจัยเสี่ยงภายใน อาทิ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง สถานการณ์ COVID ที่เริ่มเจอยอดการระบาดที่สูงขึ้น
-
มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้
33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดต่อมุมมองด้านเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) เดือนกันยายน เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 แสนราย ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะยังคงมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่ นอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตลาดจะติดตามรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อวิเคราะห์ว่าเฟดได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงรายละเอียดการทยอยลดคิวอีหรือการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรบ้าง และนอกจากนี้ ตลาดจะติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน ที่อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยยอดขายรถยนต์ที่ลดลง ซึ่งหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น +0.2% สะท้อนว่าการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าระดับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะอยู่ที่ระดับ 5.3% ทั้งนี้ ตลาดจะติดตามว่า อัตราเงินเฟ้อมีการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหรือไม่ เพราะหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงชะลอลงอาจทำให้ ตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง เพราะยังกังวลปัญหา Stagflation อยู่ ทั้งนี้ เรามองว่า การใช้จ่ายในสหรัฐฯ จะทยอยฟื้นตัวได้ดี หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 73.5 จุด
-
ฝั่งยุโรป – แม้ว่าปัจจุบันการเลือกตั้งเยอรมนียังไม่ได้ข้อสรุปว่า พรรคไหนจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม (Coalition Government) ได้ แต่ล่าสุด เริ่มมีความเป็นไปได้ว่า พรรค Green และ FDP ที่ได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกัน อาจบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรค SPD ที่ได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ Traffic light (SPD+Green+FDP) อาจส่งผลดีต่อตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นเยอรมนีและค่าเงินยูโร เนื่องจากรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และอาจมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เพราะพรรค CDU/CSU ที่เคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยังพร้อมที่จะเจรจากับพรรค Green และ FDP
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดการเงินยังคงจับตาปัญหาหนี้ Evergrande รวมถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ รายอื่นในจีน โดยตลาดจะรอลุ้นว่า Evergrande จะสามารถขายสินทรัพย์เพื่อมาจ่ายเงินคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ได้หรือไม่ ภายในระยะเวลา Grace period 30 วัน นับตั้งแต่มีการผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดจะติดตามการประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) โดยตลาดมองว่า BOK จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมก่อนหน้า ซึ่งเราคาดว่า BOK อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในเดือนธันวาคม หลังเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวได้ดี
-
ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการประมูลบอนด์ LB249A วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยหากผลการประมูลออกมาดีหรือผู้เล่นในตลาดยังมีความต้องการบอนด์อยู่มาก อาจช่วยทำให้บอนด์ยีลด์ในช่วง front-end อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากจากระดับปัจจุบัน หลังจากที่ยีลด์ front-end ได้ปรับตัวขึ้นกว่า 0.17% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรามองว่าน่าจะ priced-in แนวโน้มการคงดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงปี 2023 ไปพอสมควรแล้ว