-
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์เดินหน้าแข็งค่าขึ้นจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้นมากกว่าคาด
-
ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม FOMC โดยเฉพาะประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ คิวอี
-
เงินดอลลาร์เสี่ยงถูกขายทำกำไร หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณการลดคิวอีไปมากกว่าที่ตลาดรับรู้แล้ว นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงต่อได้ หากเฟดแสดงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลง ส่วนทางด้านเงินบาท ในระยะสั้น เงินบาทยังคงถูกกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทย จากความกังวลการระบาดหลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินบาทอาจผันผวนตามราคาทองคำได้เช่นกัน (ราคาทองลง ผู้เล่นในตลาดอาจเข้ามาแลกเงินดอลลาร์เพื่อซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว) อนึ่ง แนวต้านสำคัญเงินบาทยังอยู่ในช่วง 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะจับตาการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิด หลังจากล่าสุด โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง ซึ่งเป็นไปได้ว่า เฟดอาจมองว่า ปัจจัยเชิงลบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อาทิ ผลกระทบของการระบาด Delta รวมถึง ความวุ่นวายทางการเมืองสหรัฐฯ จากการพิจารณาเพดานหนี้ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงชั่วคราว ในขณะที่ ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงาน เริ่มเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดมากขึ้น ทำให้ในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% แต่เรามองว่า เฟดอาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับลดคิวอีที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการประกาศลดคิวอี รวมถึงรายละเอียดแผนการลดคิวอีที่ชัดเจนอาจเกิดขึ้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และ เฟดอาจเริ่มลดคิวอีได้จริงในเดือนธันวาคม นอกเหนือจาก การประชุมเฟด ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่าน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกันยายน ซึ่งตลาดมองว่า การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริการอาจสะดุดลงเล็กน้อย ทำให้ขยายตัวในอัตราชะลอลง ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะลดลงสู่ระดับ 60.8 จุด และ 55 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
-
ฝั่งยุโรป – การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจอังกฤษ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Tightening Policy) อาทิ อาจมีเสียงสนับสนุนการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดมองว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และอาจเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในครึ่งหลังของปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม ในฝั่งยุโรป กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการบริการ อาจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากผลกระทบของการระบาด Delta ทั่วโลก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยุโรป ในเดือนกันยายน อาจลดลงสู่ระดับ 60.4 จุด และ 58.5 จุด ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่จะลดลงสู่ระดับ 98.9 จุด ในเดือนกันยายน
-
ฝั่งเอเชีย – บรรดาธนาคารกลางในเอเชีย มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เริ่มจะทยอยฟื้นตัวได้ หลังปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในเอเชียอาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว โดยในฝั่งธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.125% อนึ่ง CBC อาจทยอยส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ หลังเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดไม่มากนัก ส่วนทางด้าน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% พร้อมทั้งเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่อ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เริ่มดีขึ้น เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.5% เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจเผชิญความหนักใจในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.0% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศยังคงมีความรุนแรงอยู่ ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับสูง
-
ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงมาก ทั้งในต่างประเทศและในประเทศช่วงเดือนสิงหาคม จะกดดันให้ ยอดการส่งออกไทย (Exports) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เหลือ +17%y/y เช่นเดียวกับ ยอดนำเข้า (Imports) ที่จะขยายตัวเพียง +40% ทั้งนี้ ดุลการค้ายังคงเกินดุลราว 1.4 พันล้านดอลลาร์