ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน ตลาดสกุลเงินดิจิทัลทำท่าเหมือนกับว่ากำลังจะกลับเข้าสู่ขาขึ้นอย่างเต็มตัวอีกครั้งเมื่อบิทคอยน์และอีเธอเรียมปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ ในวันนั้นอีเธอเรียมสร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $4,000 ในขณะที่บิทคอยน์ขยับขึ้นจนเกือบแตะ $53,000 แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 4 วัน ความฝันของนักลงทุนคริปโตฯ ก็พังทลายลง โดยใช้ระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น
วันที่ 7 กันยายน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ประเทศเอล ซัลวาดอร์ประกาศให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินประจำชาติเป็นแห่งแรกของโลก ราคาสกุลเงินดิจิทัลหลักอย่างบิทคอยน์และอีเธอเรียมกลับปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว บิทคอยน์ร่วงลงมาจาก $52,000 จนลงไปแตะ $42,000 ได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาพยายามทรงตัวอยู่เหนือ $46,000 โดยประมาณ การลงมาครั้งนี้ก่อให้เกิดกระเสียงแตกในหมู่นักลงทุน บางคนมองว่านี่คือโอกาสที่จะได้เข้าช้อนซื้อบิทคอยน์ ในขณะที่บางคนมองว่าขาขึ้นรอบนี้ได้จบลงแล้ว
ปาร์ตี้ขาขึ้นตั้งแต่ปลายกรกฎาคมได้มาถึงวันที่ต้องเลิกรา
ที่มา: CQG
กราฟในรูปด้านบนแสดงช่วงเวลาที่บิทคอยน์สร้างจุดต่ำสุดที่ $28,800 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะยกจุดต่ำสุดขึ้นเล็กน้อยเป็น $29,215 ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม การยกตัวครั้งนั้นสร้างความหวังให้กับเหล่าสาวกพาราคาบิทคอยน์ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ $53,125 ในวันที่ 7 กันยายน ก่อนที่ขาขึ้นระลอกนี้จะพังครืนลงมา ทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ $43,705 ขาลงครั้งนี้คิดเป็นการปรับตัวลดลง 14.3% ภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
หากคุณคิดว่าขาลงของบิทคอยน์รุนแรงแล้ว แต่เมื่อไปดูอีเธอเรียมก็จะเห็นว่าขาลงของบิทคอยน์นั้นยังดูใจร้ายน้อยกว่า
ที่มา: CQG
กราฟอีเธอเรียมฟิวเจอร์สรายสัปดาห์รูปนี้ทำให้เราเห็นถึงการทำจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมตามบิทคอยน์ที่ $1,697.75 และขนับจุดต่ำสุดขึ้นเป็น $1,715 ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะทะยานขึ้น ขาขึ้นครั้งนี้อีเธอเรียมสามารถทำได้ 138.9% สร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ $4,056.25 ก่อนที่จะร่วงลง 21.6% ทำจุดต่ำสุดที่ $3,179.75 ในวันที่ 7 กันยายน
เอล ซัลวาดอร์กับการประกาศรับบิทคอยน์เป็นสกุลเงินประจำชาติ
ถือเป็นตลกร้ายสำหรับวงการสกุลเงินดิจิทัลเป็นอย่างมากที่วันที่ 7 กันยายน บิทคอยน์กลับร่วงลงทั้งๆ ที่เป็นวันประกาศให้ราชาสกุลเงินดิจิทัลเหรียญนี้กลายเป็นสกุลเงินประจำชาติ ที่ผ่านมาสกุลเงินของประเทศเอล ซัลวาดอร์นั้นก็ผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลเอล ซัลวาดอร์จึงตัดสินใจให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินประจำชาติไปเลย แม้จะมีความผันผวนเหมือนกัน แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถดึงการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาได้
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศเอล ซัลวาดอร์สามารถดาวโหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อ “ชิโว่ วอลเล็ท” จากรัฐบาลไปใช้ได้เลย จากน้้นรัฐบาลจะโอนเงินบิทคอยน์ในมูลค่าเท่ากับ $30 ดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่วอลเล็ทของผู้ใช้งาน ทันทีที่เอล ซัลวาดอร์ ตัดสินใจเช่นนี้ IMF ก็ได้ออกมาเตือนเอล ซัลวาดอร์ให้ระวังถึงความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลที่อาจพังเศรษฐกิจของประเทศได้ภายในชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ไม่ได้สนใจคำเตือนเหล่านั้น พวกเขายังสถาปนาให้วันที่ 7 กันยายนกลายเป็นวัน “บิทคอยน์ เดย์” รัฐบาลเฉลิมฉลองด้วยการนำเงินเข้าไปซื้อบิทคอยน์อีก 200 เหรียญ กลายเป็นว่าตอนนี้รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ถือบิทคอยน์แล้วทั้งหมด 400 เหรียญ และผู้นำของพวกเขาก็ประกาศเลยว่า “จะซื้อเพิ่มอีกแน่นอนในอนาคต”
นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่าเอล ซัลวาดอร์จะไม่ใช่ชาติเดียวที่ยอมรับบิทคอยน์เป็นสกุลเงินประจำชาติในอนาคต เพราะตอนนี้ประเทศยูเครนก็กลายเป็นประเทศที่สองที่รับรองสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์แล้ว และคาดว่าประเทศบราซิลและอาร์เจนติน่าอาจจะตามมาในอนาคต แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่การร่วงลงแบบวันที่ 7 กันยายนก็ไม่ใช่อะไรที่รัฐบาลเอล ซัลวาดอร์หวังว่าจะได้เห็นบ่อยๆ แน่นอน
คอยน์เบสกับการเผชิญหน้าทางกฎหมาย
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้เปิดรับสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินประจำชาติ แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังรังแกและคุกคามสิทธิเสรีภาพในการใช้สกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้่ว แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา “คอยน์เบส” (NASDAQ:COIN) พึ่งถูก กลต. สหรัฐฯ ยื่นจดหมายแจ้งให้ไปขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิจารณาเกี่ยวกับการกู้ยืมด้วยสกุลเงินดิจิทัล
แพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัลคอยน์เบสเปิดตัวในวันที่ 14 เมษายน ราคาหุ้นคอยน์เบสก่อนเปิดตลาดมีราคาอยู่ที่ $250 ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ $429.54 อย่างไรก็ตามราคาหุ้นของแพลตฟอร์มคอยน์เบสกลับไม่เคยได้สร้างจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าราคาเปิดในวันแรกวันเลยสักครั้ง ตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนเมษายน ตอนนี้ราคาหุ้นคอยน์เบสปรับตัวลดลงมาแล้วมากกว่า 40% มีราคาซื้อขายล่าสุดเมื่อวันศุกร์อยู่ที่ $248.32 และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวใดๆ
ก่อนหน้าที่คอยน์เบสจะถูกฟ้องจาก กลต. พวกเขาพยายามที่จะสร้างระบบให้ผู้เปิดบัญชีสกุลเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มสามารถกู้ยืมจากบริษัทด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่พวกเขามีได้ และพวกเขามีแผนที่จะสร้างระบบอัตราผลตอบแทนออกมาอย่างจริงจัง คำกล่าวอ้างแรกที่ กลต ใช้โจมตีคอยน์เบสเลยคือความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลที่อาจเกิดขึ้นแบบที่บิทคอยน์ร่วงลงมาในสัปดาห์ที่แล้ว กลต. อ้างว่าสิ่งที่ทำไปเพื่อเป็นการปกป้อง “ประชาชนที่เป็นนักลงทุนในตลาดเท่านั้น”
คำพูดนี้อาจจะเป็นเจตนาที่หวังดีจริงๆ จากหน่วยงานภาครัฐหรือเป็นความพยายามที่จะดึงผู้คนให้อยู่ในระบบต่อไป เพราะการถือกำเนิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลได้ทำให้หลายคนตาสว่าง เห็นภาพการควบคุมจากภาครัฐผ่านกลไกการเงิน และผู้สร้างบิทคอยน์ก็เคยพูดก่อนที่หายตัวไปอย่างลึกลับว่า บิทคอยน์จะเป็นสกุลเงินที่มาปลดแอกอิสรภาพทางการเงินให้กับมนุษย์
โอกาสสำหรับผู้ที่ตกรถ หรือ สัญญาณบอกถึงขาลงที่กำลังจะเกิดขึ้น?
ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือผู้ต่อต้าน การร่วงลงของสกุลเงินบิทคอยน์ในวันที่ 7 กันยายน แม้จะรู้ดีว่าอาจจะเกิดขึ้น แต่เชื่อได้เลยว่าในขณะที่เกิดนั้นไม่มีใครเตรียมใจว่าจะได้เห็นขาลงประมาณ $10,000 เกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ฝ่ายที่เชียร์ก็บอกว่าโอกาสขึ้นรถมาถึงแล้ว ส่วนฝ่ายที่แช่งก็บอกว่า “เห็นไหมละ ลางแห่งหายนะเริ่มกลับมาปกคลุมอีกครั้ง”
ในโลกประวัติศาสตร์การลงทุน การโต้เถียงกันระหว่างฝั่งขาขึ้นและขาลงเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย สิ่งนี้ก่อให้เกิดสภาพคล่องในตลาด แต่สำหรับนักลงทุนคริปโตฯ นั้น ความผันผวนนี้อาจจะเป็นสวรรค์สำหรับนักเก็งกำไร แต่มันคือฝันร้ายสำหรับนักลงทุนสาย VI ที่เน้นเก็บกินในระยะยาว ส่วนตัวแล้วผมมองว่าตราบใดที่เรายังไม่ถึงวันที่สกุลเงินบิทคอยน์ 21 ล้านเหรียญถูกขุดออกมาจนหมด ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละคนเองว่าจะเลือกเชื่ออนาคต หรือเลือกอยู่กับความแน่นอนในอดีต