วันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งตามปฏิทินเศรษฐกิจ เพราะธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) จะมีการประชุมเกี่ยวกับนโยบายการเงินและดอกเบี้ยภายในช่วงเวลา 18.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ตลาดลงทุนจะเฝ้าจับตาดูว่า ECB จะเลือกดำเนินนโยบายตามธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ที่ตัดสินใจคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือไม่ ที่ผ่านมา ECB ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่ชอบคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง การประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม ECB ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับต่ำ ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก และยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา
เจ็ดสัปดาห์หลังจากนั้น เงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบสิบปี การระบาดของเดลตากระจายไปทั่วทั้งโลก ทำให้หลายๆ พื้นที่ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มทางสังคมกันอีกครั้ง หลายฝ่ายเป็นกังวลในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้อาจจะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามรอบนี้สหภาพยุโรปกลับสามารถจัดการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในเยอรมัน แต่ยอดผู้ติดเชื้อในฝรั่งเศส อิตาลีและสเปนในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมากลับปรับตัวลดลง
การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางสังคมในยูโรโซน และการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทำให้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคมดีขึ้น แต่ช่วงเวลาดีๆ เหล่านั้นกลับค่อยๆ ปรับตัวลดลงในเดือนสิงหาคม ดัชนี PMI ภายในยูโรโซนหดตัวลดลง รายงานตัวเลขวัดบรรยากาศความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ในเยอรมันหดตัวลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 นอกจากนี้ตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจจาก IFO ก็ลดลงด้วย แม้จะไม่มากเท่าตัวเลขจาก ZEW ก็ตาม
หากดูเฉพาะเรื่องภาวะเงินเฟ้อในยูโรโซน แม้ว่าธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศนอกยูโรโซนได้ออกมาชะลอเรื่องการลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกไปก่อน แต่ ECB กลับมีความเป็นไปได้มากกว่าที่อื่นๆ หากจะเริ่มลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรจากรัฐบาล ผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินหลายคนยังมีความเชื่อในเชิงบวกกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะดำเนินต่อไป และพวกเขาก็มองว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว แม้จะมีความเสี่ยงจากการะบาดอยู่บ้าง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่
ถึงจะมีความเป็นไปได้ว่าการประชุมของ ECB ในช่วงเย็นวันนี้จะลงเอยด้วยการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ก่อน แต่ ECB กลับมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายมากกว่า ปัจจุบันโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ ECB อยู่ภายใต้โครงการซื้อพันธบัตรเพื่อรับมือกับโรคระบาด (PEPP) และมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (APP) ดังนั้น ECB จึงมีโอกาสที่จะลดวงเงินของ PEPP แต่ไม่จำเป็นต้องไปแตะต้องวงเงินใน APP
แต่ไม่ว่า ECB จะเลือกลดวงเงินในโครงการไหน หากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้น นอกจากการประกาศนโยบายการเงินและดอกเบี้ยแล้ว ECB จะมีการอัปเดตคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ECB น่าจะประเมินให้ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อให้ตอนนี้กราฟ EUR/USD จะปรับตัวลดลงมาเป็นวันที่สามติดต่อกัน แต่ถ้ามีการปรับลดวงเงิน QE และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจออกมาดีขึ้น กราฟก็มีโอกาสกลับขึ้นไปเป็นแนวโน้มขาขึ้นได้ แต่ถ้า ECB ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ดังเดิม และนางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความเป็นกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กราฟ EUR/USD อาจปรับตัวลดลงไปถึงแนวรับ 1.1750
ดอลลาร์แคนาดาอ่อนตัวลงหลังจากธนาคารกลางแคนาดาตัดสินใจคงนโยบายดอกเบี้ยและมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ดังเดิม แม้ว่าการอ่อนค่าครั้งนี้บางส่วนจะเกิดจากความผิดหวังของนักลงทุนที่อยากจะเห็นการลดวงเงิน QE อีกในการประชุมที่พึ่งผ่านมา แต่ภาพรวมของสกุลเงินดอลลาร์แคนาดาก็ยังถือว่าอยู่ในมุมบวก BoC มองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแคนาดายังคงแข็งแกร่ง และภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามก็ถือว่าดี การจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนในภาคธุรกิจของแคนาดายังคงเป็นที่สนใจจากทั่วโลก แม้จะมีความเสี่ยงจากซัพพลายเชนขาดแคลนและการระบาดอยู่ก็ตาม
สุดท้ายดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ถึงแม้ว่ารายงานภาพรวมทางเศรษฐกิจจากธนาคารกลางจะพบสัญญาณการชะลอตัว ข้อมูลจากธนาคารกลางในแต่ละภูมิภาคระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมมาจนถึงเดือนสิงหาคมมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำขาลงเป็นวันที่สามติดต่อกัน และทำให้นักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นในฐานะสกุลเงินสำรองที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย