ในที่สุดสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบก็สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ จบสถิติขาลงเจ็ดวันติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ขาขึ้นของราคาน้ำมันรอบนี้ ก็ยังมีความผันผวนปรากฎขึ้นมาให้เห็น แสดงให้เห็นถึงความกังวลของตลาดที่มีต่อข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ที่จริงแล้วสถานการณ์โควิดเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่พาราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นลง และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ หากยังลงทุนในน้ำมัน นักลงทุนก็ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะมาหาพอร์ตการลงทุนของเราถึงที่อยู่ดี ในบทความนี้เราจะพาไปดูปัจจัยเสี่ยง 6 ประการที่จะส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระยะสั้น
1. ช่วงเวลาที่โรงกลั่นน้ำมันของประเทศยักษ์ใหญ่ปิดบำรุง
ในเดือนกรกฎาคม โรงกลั่นน้ำมันในประเทศอินเดียส่วนใหญ่ได้มีการหยุดกลั่นน้ำมันเพื่อบำรุงโรงกลั่นชั่วคราว ผลที่ตามมาก็คือทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากอินเดียลดลง และช่วงเวลาที่โรงกลั่นน้ำมันในอินเดียหยุดดำเนินการนี้เองบังเอิญเป็นช่วงเวลากันกับฤดูพายุมรสุมในสหรัฐฯ
จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันของอินเดียในเดือนกรกฎาคมถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบปี ที่น่าสนใจก็คือตัวเลขการนำเข้าที่ลดลงนี้ต่ำกว่าช่วงการระบาดของโควิดในช่วงไตรมาสที่ 2 เสียอีก อินเดียถือเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันเยอะที่สุดเป็นอันดับสามของโลก พวกเขานำเข้าน้ำมันจากทุกประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้ จากข้อมูลทางสถิติระบุว่าการใช้งานน้ำมันในอินเดียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ดังนั้นนักลงทุนจึงห้ามประมาทความต้องการน้ำมันดิบของชาวอินเดียเป็นอันขาด
ทุกๆ ปีในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม จะเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ช่วงการซ่อมบำรุงโรงกลั่น และสหรัฐฯ ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ใช้พลังงานน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับช่วงสองเดือนนี้เป็นรอยต่อระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาว เมื่อการพักร้อนสิ้นสุดลง ผู้คนจะหยุดเดินทาง และทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง สอดคล้องกันกับการปรับตัวขึ้นของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เกิดจากการเก็บสะสมเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาว นักวิเคราะห์เชื่อว่ารายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก EIA ในระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. การประมูลซื้อน้ำมันจากหน่วยงานรัฐ
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DoE) จะขายน้ำมัน 20 ล้านบาร์เรลจากหน่วยงานน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) โรงกลั่นน้ำมันที่ต้องการสัมปทานจะต้องส่งราคาประมูลให้กับหน่วยงานภายในวันที่ 31 สิงหาคม หลังจากการประมูลในวันที่ 13 กันยายน ผู้ที่ชนะการประมูลจะได้รับการส่งมอบน้ำมันภายในวันที่ 1 ตุลาคมและวันที่ 15 ธันวาคม
อันที่จริงเหตุการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อราคาน้ำมันหรือสถานการณ์ในตลาด เพราะการซื้อขายครั้งนี้เป็นดีลที่ถูกวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า แผนการประมูลนี้ถูกจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และปี 2018 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณพรรค (Bipartisan Budget Act) การขายน้ำมันครั้งนี้เป็นการหารายได้ของรัฐบาล และในขณะเดียวกันก็ได้เคลียร์พื้นที่เก็บน้ำมันสำรองไปในตัว
แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องสนใจกับการซื้อขายครั้งนี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจาก EIA ในไตรมาสที่ 4 การดำเนินการครั้งนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้เกิดผลกระทบแบบนั้น
3. การเช่าพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ของรัฐบาล
สัปดาห์ที่แล้ว เราเคยได้เล่าถึงประเด็นนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในตอนนั้นยังไม่มีข้อสรุปออกมาจากฝั่งภาครัฐว่าจะดำเนินการเมื่อไหร่ แต่ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ ได้ประกาศแล้วว่าจะมีการแจ้งรายละเอียดการเช่าที่ดินของภาครัฐเพื่อขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายในเดือนกันยายน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถประมูลเช่าพื้นที่นอกชายฝั่งในบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้อย่างเร็วที่สุดคือภายในเดือนตุลาคม นอกจากนี้สำนักงานบริหารจัดการที่ดินของสหรัฐฯ จะประกาศรายละเอียดของพื้นที่ขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบนชายฝั่งที่ภาครัฐจะขายในสัปดาห์หน้า และจะประกาศเจ้าของอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม
ความเคลื่อนไหวจากทางภาครัฐครั้งนี้มาได้ทันเวลาพอดีกับการที่เหล่าบรรดาผู้ผลิตน้ำมันเริ่มส่งเสียงดังขึ้นว่าต้องการผลิตน้ำมันเพิ่ม หลายบริษัทเริ่มกลับมาทำกำไร มีเงินสด เพิ่มอัตราการปันผล ซื้อกิจการของบริษัทอื่น และสามารถชำระหนี้ได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องการและพร้อมที่จะขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่ม
สิ่งที่นักลงทุนควรจับตาดูเกี่ยวกับการซื้อขายประมูลที่ในครั้งนี้คือกระแสตอบรับว่าการซื้อขายพื้นที่เพื่อขุดเจาะครั้งนี้ได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน หากการซื้อขายคึกคักมาก นั่นหมายความว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้กลับมามีเงินมากพอที่จะขยายกิจการ และต้องการเพิ่มพื้นที่สำหรับการทำกำไร ซึ่งจะเท่ากับว่ากฎหมายพลังงานสะอาดของโจ ไบเดนในความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่ได้คุมเข้มเหมือนอย่างที่เขาหาเสียงไว้ แต่สำหรับในแง่ของเศรษฐกิจและตลาดน้ำมัน นี่ถือเป็นข่าวดีในรอบปีของวงการเลยทีเดียว
ในทางกลับกัน หากกระแสตอบรับของการประมูลครั้งนี้เบาบาง นั่นหมายความว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันอาจจะระแวงนโยบายพลังงานสะอาดของรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอาจจะยังถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป
4. ความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินในเอเชียลดลง
ข้อมูลจาก Rystad Energy เปิดเผยว่าความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินในเอเชียของเดือนสิงหาคมลดลงต่ำกว่าภูมิภาคยุโรปเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2010 ในช่วงเดือนมกราคมปี 2020 ความต้องการพลังงานเชื้อเพลิงประเภทนี้ยังสูงกว่าพื้นที่ยุโรป 50% ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่พอสมควร เพราะตัวเลขนี้บ่งบอกว่าภูมิภาคเอเชียยังไม่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ และส่งผลถึงระดับความต้องการน้ำมัน
สาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาเมื่อวันพุธส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีข่าวว่าประเทศจีนสามารถจัดการการระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เพราะเอเชียไม่ได้มีแค่ประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ดังนั้นอุปสงค์น้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวจึงยังอยู่ในระดับที่ “น่าเป็นห่วง” ไม่ว่าจะเกี่ยวกับข้องกับสถานการณ์โควิดทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
5. พายุตามฤดูกาลในพื้นที่อ่าวเม็กซิโก
ข้อมูลจากกรมอุตุวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่าในสัปดาห์นี้อาจจะเกิดการก่อตัวของพายุดีเปรสชันในอ่าวเม็กซิโก สำหรับตอนนี้อาจจะเร็วไปที่จะระบุความเป็นไปได้ที่พายุจะสร้างผลกระทบให้กับโรงกลั่นน้ำมันภายในพื้นที่ โดยเฉพาะในเท็กซัส และชายฝั่งของอ่าวในหลุยส์เซียนา แต่ในระยะยาวมีการประเมินพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบออกมาแล้ว ดังนั้นในสัปดาห์หน้าและถัดๆ ไป นักลงทุนจะต้องเริ่มประเมินความเสี่ยงที่โรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับผลกระทบ จนอาจจะถึงขั้นปิดโรงงานเพื่อเลี่ยงพายุชั่วคราว
6. เหตุการณ์ไฟไหม้ที่บริษัทน้ำมันของ Pemex
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีข่าวเหตุการณ์ไฟไหม้บนพื้นที่ขุดน้ำมันนอกชายฝั่งของบริษัทขุดน้ำมันสัญชาติเม็กซิโก “Pemex” ผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้บ่อสำหรับขุดเจาะน้ำมัน 125 จุดหรือคิดเป็นกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมด 421,000 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดชะงัก ถึงแม้ว่าบนพื้นที่ขุดน้ำมันนอกชายฝั่งอื่นจะสามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่กำลังการผลิตของ Pemex ที่หายไปนั้นคิดเป็น 25% ของการผลิตน้ำมันจากพื้นที่นอกชายฝั่ง
สถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ Pemex สามารถกลับมาผลิตน้ำมันจากแพลตฟอร์มที่เคยเกิดไฟไหม้นั้นได้แล้ว 71,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเรียกกำลังการผลิตอีก 110,000 บาร์เรลต่อวันกลับคืนมาได้อีกภายในสามวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเองได้ออกมายอมรับว่าอาจจะไม่สามารถเรียกการผลิตทั้งหมดกลับคืนมาได้จนกว่าจะถึงวันที่ 30 สิงหาคม
ผลกระทบก็คือราคาน้ำมันดิบประเภทมวลหนักที่มีการซื้อขายในสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพราะสหรัฐอเมริกาคือผู้ซื้อน้ำมันมวลหนักจาก Pemex รายใหญ่ที่สุด เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบในรูปแบบเดียวกันกับบริษัทน้ำมันของแคนาดา “Western Canadian Select (WCS)” ราคาน้ำมันมวลหนักที่ซื้อขายกันที่อัลเบอตามีการปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นคือต้นทุนในการส่งน้ำมันจากอ่าวเม็กซิโกไปยัง WCS ยิ่งยากลำบากมากกว่าเดิมเพราะท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ถูกสั่งปิดจากนโยบายพลังงานสะอาดของโจ ไบเดน