สัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคมนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นเพราะนักลงทุนเชื่อว่าตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาสูงถึง 900,000 ตำแหน่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนใจและลด QE ที่ทำไว้อยู่ลงได้ ทำให้ทองคำและน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้สาเหตุที่ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นที่ต้องการเป็นเพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศจีนที่กำลังท้าทายความสามารถทางด้านสาธารณสุขของดินแดนมังกรอีกครั้ง
ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาทองคำได้ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาไปตั้งแต่ช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ไปแล้ว ตั้งแต่การเปิดตลาดซื้อขายฝั่งเอเชียในช่วงเช้าราคาทองคำล่วงหน้าบนตลาด NYMEX ก็ได้ร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดที่ $1,680 ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และสามารถทรงตัวอยู่เหนือ $1,740 ถึงจะรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ แต่ขาลงครั้งนี้ก็ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงไปประมาณ 1.4% ของตลาดซื้อขายทองคำที่สิงคโปร์
Anil Panchal นักวิเคราะห์ตลาดทองคำจาก FXStreet วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับทองคำว่า
“หากราคาทองคำปรับตัววิ่งลงต่ำกว่า $1,700 ได้เมื่อไหร่ รับรองได้เลยว่าความบันเทิงได้มาเยือนนักลงฝั่งขาขึ้นแน่นอน เพราะพฤติกรรมนั้นจะเป็นการเปิดเส้นทางสู่แนวรับถัดไปที่ $1,680 หากจะให้ฝั่งขาขึ้นรู้สึกปลอดภัย ราคาทองคำต้องสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ $1,790 ให้ได้ จึงจะเป็นการเปิดทางสู่ $1,804 และ $1,805 อีกครั้ง”
“สาเหตุที่ทองคำสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วนั้น” เขากล่าวต่อ “เป็นเพราะยังมีนักลงทุนบางส่วนที่เชื่อว่าขาขึ้นที่เกิดในตลาดหุ้นตอนนี้มีมากเกินไป และมีความเสี่ยงที่ดอลลาร์จะชะลอตัวได้เสมอ ที่สำคัญ การที่ตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาดียิ่งทำให้เฟดมีโอกาสลด QE เร็วขึ้น และยังมีปัจจัยกดดันภายนอกจากโควิดอีก”
หลังจากที่ราคาทองคำเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลเหนือ $2,000 ได้ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จากนั้นทองคำก็ได้เข้าสู่ขาลงมาโดยตลอด จนสามารถทำจุดต่ำสุดเอาไว้ที่ $1,674 และดีดตัวขึ้นมายัง $1,905 ในเดือนพฤษภาคมปี 2021 ก่อนที่จะไซด์เวย์เป็นวงกว้างระหว่าง $1,800 - $1,700 ในปัจจุบัน
ตลาดน้ำมันกับการทำเทรนด์ใหม่...ขาลง
ดาวดวงเด่นอย่างน้ำมันที่ก่อนหน้านี้ใครๆ ก็เอาแต่เป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดมากน้อยเพียงใด หรือจะมีอนาคตเป็นเช่นไรท่ามกลางดราม่าของกลุ่มโอเปก ตอนนี้กำลังได้รับแรงกดดันอย่างหนัก และดูเหมือนว่าจะมากกว่าทองคำด้วย
ในช่วงบ่ายของตลาดซื้อขายน้ำมันดิบที่สิงคโปร์เมื่อวานนี้ ทั้งราคาน้ำมันดิบ WTIและเบรนท์ต่างก็พากันปรับตัวลดลงตัวละประมาณ 2% มีราคาซื้อขายวิ่งอยู่ต่ำกว่า $70 ต่อบาร์เรลทั้งคู่ ขาลง 7% ที่ทั้งคู่ได้รับมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ได้ยืดระยะต่อมาจนถึงเมื่อวานนี้ การแข่งค่าของดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้
ยูโรอ่อนค่าตามไปด้วย นี่คือผมกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิดเดลตาที่กำลังทำร้ายเอเชีย โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้นำเข้าและใช้น้ำมันเป็นอันดับสองของโลก
สถานการณ์การระบาดของโควิดในจีนปัจจุบันถือว่าต้องจับตาอยู่พอสมควร เที่ยวบินภายในประเทศบางส่วนเริ่มถูกยกเลิกแล้ว ในขณะเดียวกันรัฐก็ได้มีการออกคำเตือนออกไปถึง 46 เมือง จำกัดการเดินทางระบบสาธารณะทุกอย่างใน 144 จุดที่มีการระบาดเยอะที่สุด นักวิเคราะห์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จาก ANZ เขียนถึงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงครั้งใหม่กับอุปสงค์น้ำมันว่า
“แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ในจีนตอนนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับการท่องเที่ยวในฝั่งสหรัฐฯ พอดี ดังนั้นคนจึงเลือกที่จะถือดอลลาร์เอาไว้ก่อน แทนที่จะไปลงทุนในน้ำมันเพราะปลอดภัยกว่า”
ทองคำกับการต่อสู้แบบสองรุมหนึ่ง
ขอกลับมาที่ทองคำอีกเล็กน้อย ในพารากราฟก่อนหน้าเราได้วิเคราะห์ทองคำในเชิงเทคนิคไปแล้ว แต่หากพิจารณาไปที่ปัจจัยพื้นฐานจะเห็นว่ามีสาเหตุที่ทำให้ดอลลาร์สามารถกดดันทองคำได้หลักๆ อยู่สองเรื่องคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ และตัวเลขการจ้างงานฯ
นอกจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีก็มีส่วนกดดันราคาทองคำ เพราะพฤติกรรมนี้มีความหมายว่านักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะต้องทำนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น ทั้งดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนฯ 10 ปีต่างก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับราคาทองคำมาโดยตลอด เมื่อทั้งสองปรับตัวขึ้น เคราะห์กรรมจึงถูกส่งมายังทองคำให้ร่วงลงอย่างหนักเช่นนี้
การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจอเมริกา เพราะทุกอย่างได้สะท้อนออกมาผ่านตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากถึง 943,000 ตำแหน่ง ประกอบกับอัตราการว่างงานที่ลดลงมาเหลือ 5.4% ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่มีข้ออ้างสำหรับการปล่อยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้อีกต่อไป และพวกเขาจะต้องลด QE เดือนละ $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงมา
ถ้อยแถลงและอีเวนท์ที่มีสมาชิกเฟดเข้าร่วมจะได้รับความสนใจมากขึ้น
จากรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ ที่ออกมาดีอย่างถล่มทลาย และข้อสันนิษฐานของนักวิเคราะห์ที่เราพูดถึงไปก่อนหน้า ยิ่งทำให้นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงของผู้มีส่วนร่วมในการวางนโยบายการเงินทุกคนไม่ว่าจะเป็นบอร์ดบริหารทั้ง 8 คนหรือประธานเฟดสาขาต่างๆ ทั้งที่มีสิทธิ์โหวตและไม่มีสิทธิ์โหวต ในสัปดาห์นี้พวกเขามีคิวที่จะต้องออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนจะต้องถามถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล
คนที่ได้คิวพูดเป็นคนแรกของสัปดาห์นี้คือนายราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดแห่งสาขาแอตแลนต้าและนายโทมัส บาร์กิ้น ประธานเฟดแห่งสาขาริชมอนต์ หลังจากนั้นก็จะเป็นถ้อยแถลงของชาร์ล อีแวน ประธานเฟดสาขาชิคาโก ในวันนี้และเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดแห่งเคนซัส ซิตี้ในวันพุธ คนที่นักลงทุนควรใส่ใจเป็นพิเศษคือ ราฟาเอล บอสติค และโทมัส บาร์กิ้น เพราะทั้งสองคนค่อนข้างสนับสนุนให้มีการลด QE เป็นอย่างมาก
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เฟดปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายเพื่อสู้กับโควิดมาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ เอาแต่ประกาศว่าจะปรับนโยบายการเงินหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน “ถ้าหากว่า” อัตราเงินเฟ้อขึ้นเกิน 2% และการจ้างงานกลับมาดีเหมือนเดิม แต่ประเด็นคือเฟดไม่เคยลงรายละเอียดหรือให้ตัวเลขที่แน่ชัดเลยสักครั้ง
ดังนั้นเมื่อตลาดลงทุนได้เห็นตัวเลขการจ้างงานประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงมากในขณะนี้ พวกเขาจึงเชื่อว่าเฟดจะต้องประกาศแผนลดวงเงิน QE ก่อนอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนกันยายน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนการปูทางแรกไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่สำคัญรายงานตัวเลขการจ้างงานเมื่อวันศุกร์นี้คือการรายงานตัวเลขครั้งสุดท้ายที่ดีที่สุดก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีที่แจ็กสัน โฮล ไวโอมิ่ง ในระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้คือการรายงานตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงภาวะเงินเฟ้ออย่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่จะประกาศออกมาในวันพุธและพฤหัสบดีนี้ ตัวเลขทั้งสองถือเป็นมาตรวัดหลักที่เฟดใช้วัดการเติบโตของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งในระยะเวลาสามเดือนล่าสุด ตัวเลขทั้งสองก็ได้เพิ่มขึ้น ทำสถิติใหม่แทบทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่าตัวเลขที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อาจจะไม่ปรับตัวขึ้นต่อ หลังจากที่เดือนที่แล้วพึ่งปรับตัวขึ้นอีก 0.9% ทำสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ถึงแม้ว่าเฟดจะเน้นย้ำมาตลอดว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่เมื่อเห็นตัวเลขเงินเฟ้อทำสถิติใหม่นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 ก็ไม่แปลกใจที่จะได้เห็นนักลงทุนรู้สึกกลัวและหวังให้มีการลด QE โดยเร็ว