ความคิดที่ว่ามนุษยชาติ (ในโซนประเทศที่พัฒนาแล้ว) สามารถกำราบโควิด-19 ได้อยู่หมัดนับวันยิ่งไม่ใช่ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระลอกใหม่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลงลึกที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดยังเป็นกังวลกับตลาดแรงงานด้วยว่าจะสามารถรักษาระดับการฟื้นตัวเอาไว้ได้หรือไม่ ในการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานที่กำลังจะถึงในวันศุกร์นี้
การเปิดตลาดลงทุนวันแรกของเดือนสิงหาคมเมื่อวานนี้เปิดฉากด้วยการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ได้วิ่งลงไปถึง 1.15% ในช่วงหนึ่งของตลาดซื้อขาย การที่อัตราผลตอบแทนฯ ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ หมายความว่านักลงทุนกำลังกลัวความเสี่ยง เลือกถือครองพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเงินเฟ้อก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังกัดกินมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่จะหันไปทางไหน พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วในตอนนี้ อย่างไรก็ดี ก่อนที่ตลาดหุ้นจะปิดลง อัตราผลตอบแทนฯ ก็ยังสามารถวิ่งกลับขึ้นอยู่ที่ 1.18% ได้โดยประมาณ แต่ก็คิดเป็นขาลง 6 จุดเบสิสตลอดทั้งการลงทุนเมื่อวานนี้
ถึงแม้ว่าตัวเลขดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Index) เมื่อวันศุกร์จะออกมาที่ 3.5% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ 3.6% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี และยังคงยืนยันการมีอยู่ของภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวยังอยู่สูงกว่าตัวเลข 3.4% ในเดือนพฤษภาคม และหากดูพิจารณาโดยรวมเอาราคาอาหารและพลังงานเข้ามาประเมินรวม จะพบว่าตัวเลข PCE แบบ YoY ยังคงที่เหมือนเดิมอยู่ที่ 4%
อนึ่ง ดัชนีดังกล่าวเป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดภาวะเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
นักวิเคราะห์บางคนพยายามแย้งว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ชะลอตัวลงบ้างแล้ว แต่เหตุผลเดียวที่พอจะอธิบายการชะลอตัวนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้มากที่สุดก็คือเป็นเพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ถ้าหากว่าปัจจัยทั้งสองกลับมาเป็นปกติ ก็จะหมายความว่าเงินเฟ้อจะกลับมามีความเร็วเท่าเดิมด้วยใช่หรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มหันมาสนใจปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น พวกเขาประเมินว่าปัญหานี้อาจจะยังไม่จบภายในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่โครงการช่วยเหลือผู้ที่ว่างงานหมดอายุพอดี และเด็กๆ จะเริ่มกลับไปโรงเรียนกันแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่จะกลายเป็นประเด็นใหม่คือความสามารถของคนที่เคยตกงานไปก่อนหน้านี้อาจจะไม่เหมาะกับตำแหน่งงานที่กำลังจะเปิดรับใหม่ ในขณะเดียวกันบางคนก็ไม่กล้ากลับไปทำงานเพราะกังวลความเสี่ยงโควิด ซึ่งจะทำให้นายจ้างต้องแบกต้นทุนค่าจ้างที่แพงขึ้นในการจ้างคนมาทำงาน
นอกจากนี้ยังมีรายงานที่น่าสนใจเขียนมาด้วยว่ากลยุทธ์จ้างคนงานใหม่ด้วยเงินเดือนที่สูงกว่าเดิมจะทำให้คนที่ทำงานอยู่แล้วมีแนวโน้มต้องการจะเรียกค่าตัวที่แพงขึ้น ดังนั้นสำหรับนายจ้าง ไม่ว่าจะเลือกทางไหน พวกเขาก็มีแต่จะต้องเพิ่มต้นทุนในการจ้างคนเพิ่มขึ้นอยู่ดี นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แจกเงินราวกับเป็นลอตเตอรีราคาถูก ซึ่งเราไม่ได้เห็นภาพเหตุการณ์อย่างนี้มานานตั้งแต่ปี 1970
นอกจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีจะปรับตัวลดลงแล้ว อัตราผลตอบแทนฯ อายุ 30 ปีก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน กราฟปรับตัวลดลงไปวิ่งอยู่เกือบ 1.830% ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมาวิ่งอยู่ที่ 1.845% คิดเป็นการปรับตัวลดลงตลอดวันทำการ 4 จุดเบสิส
ตลาดพันธบัตรยุโรปก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับตลาดอเมริกา
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันซึ่งเป็นมาตรวัดหลักของกลุ่มยูโรโซนก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 3 จุดเบสิส ลงไปสู่ระดับติดลบ 0.48% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนฯ อายุ 30 ปีได้ลงไปวิ่งต่ำกว่า 0% เท่ากับว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทุกรุ่นของเยอรมันได้เข้าสู่ระดับติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหกเดือน
เมื่อวานนี้ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ประกาศว่าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาพวกเขาได้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากกว่าธนาคารกลาง 4 แห่งที่เป็นตัวท๊อปของกลุ่มได้แก่ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน ที่ได้ขายพันธบัตรออกไป คิดเป็นวงเงินที่ซื้อจากธนาคารกลางทั้งสี่ทั้งหมด 134,700 ล้านยูโร ในขณะที่จำนวนการพิมพ์พันธบัตรทั้งหมดมีตัวเลขอยู่ที่ 89,000 ล้านยูโร นักลงทุนเชื่อว่า ECB จะเดินหน้าซื้อพันธบัตรเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาอัตราการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และเป็นกลุยทธ์ในการช่วยเศรษฐกิจยุโรปให้ฟื้นตัวจากโรคระบาด