ถึงแม้ว่าสงครามระหว่างมนุษยชาติกับโควิดจะยังไม่จบ แต่ปีนี้สิ่งที่ทำให้น้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกลับไม่ใช่ความเป็นจริงที่ซัพพลายน้ำมันโลกมี แต่กลับเป็นพาดหัวข่าวและตัวเลขความต้องการน้ำมันดิบที่สูงกว่าความเป็นจริง ที่ผ่านมาราคาน้ำมันวิ่งขึ้นตามตัวเลขคาดการณ์ ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันหรือซัพพลายในระบบยังคงเท่าเดิม
ข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ อเมริกาสอดคล้องกับการใช้พลังงานน้ำมันในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนมีระดับที่เกือบจะเท่ากับก่อนการระบาดโควิด ประกอบกับการก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดลงทุนจึงยิ่งหวังว่าจะได้เห็นระดับความต้องการน้ำมันกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีข้อมูลชุดใหม่ออกมาระบุว่าความต้องการน้ำมันในปีนี้อาจจะยังไม่สามารถกลับขึ้นไปสู่ช่วงก่อนการแพร่ระบาด และนี่คือข้อมูลที่นักลงทุนต้องพิจารณา
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ได้เปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งมอบให้กับสถานีจ่ายน้ำมันทั่วสหรัฐฯ ซึ่งวัดถึงวันที่ 2 กรกฎาคมว่ามีปริมาณรวมแล้วทั้งสิ้น 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งตัวเลข 10 ล้านบาร์เรลต่อวันนี้ถือว่าสูงกว่าการจ่ายน้ำมันให้ปั้มในช่วงปี 2019 หรือก่อนการแพร่ระบาดเสียอีก สะท้อนให้เห็นความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 อีกด้วย
ปริมาณซัพพลายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้งานในแต่ละไตรมาสของปี 2021 มีความใกล้เคียงกับในปี 2019 เป็นอย่างมาก จะต่างกันก็เพียงปริมาณของปี 2021 น้อยกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อวัดการส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงมาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อน จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ณ จุดนี้ ในเชิงของปริมาณ เท่ากับว่าปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในตอนนี้สามารถชดเชยกับของปี 2019 ได้
ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ตัวเลขการกระจายน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรลต่อวันไปยังสถานีน้ำมันต่างๆ สามารถขึ้นสูงกว่าระดับตัวเลขในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ได้ นำมาซึ่งการถกเถียงกันระหว่างนักวิเคราะห์ด้วยกันเองว่าจริงๆ แล้วการใช้งาน้ำมันเชื้อเพลิงของสหรัฐฯ ได้กลับขึ้นมาสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดแล้วหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าตัวเลขนี้ได้นับรวมช่วงวันหยุดยาวฉลองวันประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมเข้าไปด้วย ดังนั้นจึงมีบางคนเห็นแย้งว่าตัวเลขนี้อาจจะยังไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการใช้งานน้ำมันที่แท้จริง
การเห็นต่างในเรื่องของการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงในวันที่ 4 กรกฎาคมค่อนข้างน่าสนใจ เพราะข้อมูลตัวเลขของสัปดาห์ถัดมาที่พึ่งประกาศไปเมื่อวันพุธจะพบว่าตัวเลขการกระจายน้ำมันไปยังสถานีน้ำมันต่างๆ ลดลงมาเหลือ 9.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินก่อนหน้านั้นว่าควรจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังระบุด้วยว่าปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันดีเซลคงคลังกลับเพิ่มขึ้นแทน
ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มเข้ามาในคลังของสัปดาห์ล่าสุดมีตัวเลขอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล ในขณะเดียวกันโรงกลั่นน้ำมันก็ลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง จุดนี้เองอาจจะสามารถตีความได้ว่าเราได้ผ่านจุดที่มีการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุดไปแล้ว และหลังจากนี้ตัวเลขดังกล่าวจะเริ่มปรับตัวลดลง รวมถึงช่องว่างของการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงในระหว่างปี 2021 และปี 2019 ด้วย
แม้ว่าปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลง แต่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสัปดาห์ที่แล้วกลับไม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงกระนั้นมาตรวัดนี้ก็ไม่สามารถเอามาใช้อ้างอิงกับการใช้งานน้ำมันภายในสหรัฐฯ ได้ เพราะมีส่วนที่ WTI ถูกส่งออกไปแทนน้ำมันดิบเบรนท์เพราะมีราคาที่ถูกกว่าด้วย
แต่ก็อย่าพึ่งตกใจไป เพราะการที่ตัวเลขการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงเพียงสัปดาห์เดียวยังไม่อาจกำหนดทิศทางภาพรวมต่อจากนี้อีกครึ่งปีได้ นักลงทุนจะต้องคอยจับตาดูตัวเลขในสัปดาห์ถัดต่อจากนี้ไปอีกเรื่อยๆ ที่สำคัญยังจะต้องดูข้อมูลอื่นควบคู่ไปด้วยเช่นปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลัง และปริมาณการนำน้ำมันออกมากลั่น จุดเปลี่ยนถัดไปที่ต้องจับตามองคือความต้องการน้ำมันในวันแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อนและเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีคนใช้น้ำมันเพื่อเดินทางเยอะที่สุด
สุดท้ายแล้วหากปริมาณการใช้งานน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงจริง ตลาดลงทุนจะโยนความผิดทั้งหมดนี้ให้กับโควิดเช่นเคยหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่านอกจากโควิดแล้ว ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นประกอบกับเงินเฟ้อก็สามารถกระทบกับต้นทุนการใช้พลังงานเชื่อเพลิงด้วยเช่นกัน นี่คือปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามได้