ค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งที่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือสภาพคล่อง เพราะหากไม่คงไม่ตัดสินใจปล่อยเงินอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป และคงไม่ปรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2% ไม่ใช่ต่ำกว่า 2% การปรับเป้าหมายเงินเฟ้อเช่นนี้หมายความว่า ECB ยอมให้เงินเฟ้อสามารถปรับตัวขึ้นได้มากกว่าจะทำให้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
ก่อนหน้านี้ ECB ภายใต้การบริหารของวิม ดุยเซินแบร์ก ประธาน ECB คนแรกหลังจากเปลี่ยนชื่อมาจาก EMI และฌ็อง-โคลด ตรีเฌตประธานคนถัดมาเคยทำให้ ECB มีชื่อเสียงในเรื่องของการไม่ยอมปรับขึ้นเพดานดอกเบี้ยไม่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแค่ไหนก็ตาม ทำให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าเป็นอย่างมาก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อตำแหน่งประธาน ECB ได้มาอยู่ในมือของนางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB คนปัจจุบัน และล่าสุดเธอก็ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งด้วยการเดินตามรอยธนาคารกลางสหรัฐฯ
แต่สิ่งที่ ECB ทำแตกต่างออกไปจากเฟดมีอยู่สองประเด็น หนึ่งคือ ECB มีนโยบายสนับสนุนด้านการเงินให้กับบริษัทที่เน้นนโยบายรักษ์สิ่งแวดล้อม และสองคือ ECB จะพิจารณาดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเข้ามาเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อด้วย ซึ่งในตอนนี้ทางเฟดกำลังเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์อยู่
นักวิเคราะห์หลายสำนักให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ก่อนหน้านี้เฟดเอาแต่พูดว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยนับราคาในอสังหาริมทรัพย์เข้ามารวมด้วย และเป็นเหตุผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าหากเฟดจะดึงสภาพคล่องออกจากระบบ พวกเขาจะเลือกดึงตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ออกมาก่อนเป็นอันดับแรก
รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายนระบุว่าผู้มีสิทธิ์วางนโยบายการเงินบางคนมีความเห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยการปรับลดวงเงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและ MBS ซึ่งคิดรวมเป็นวงเงิน $120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมบางคนก็ให้ความเห็นว่าอาจจะยังเร็วไปที่จะปรับลดวงเงินในตอนนี้ แต่หากจะร่นระยะเวลาเข้ามาเร็วกว่ากำหนดก็ยังพอรับได้
นอกจากนี้ฝั่งที่อยู่ฝ่ายไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังได้เน้นย้ำด้วยว่าการจะลดสภาพคล่องต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเด็ดขาด และพวกเขายังได้เตือนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนโหวตในปีนี้ว่าต้องแยกให้ออกระหว่างความเป็นจริงของเงินเฟ้อในปัจจุบันและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไกลกว่าความเป็นจริง การเชื่อตัวเลขคาดการณ์มากเกินไปอาจทำให้มีการปรับเงินเฟ้อจริงจนกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ สุดท้ายแล้วพวกเขาได้ลงความเห็นว่า “ควรรอดู” ไปก่อน
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่กำลังคุกคามเอเชียอย่างหนัก ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มเป็นกังวล และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมา นางแมรี่ ดัลลีย์ ประธานเฟดแห่งซาน ฟรานซิสโกให้ความเห็นว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำและปัญหาทางการเมืองในภูมิภาคเหล่านั้นคือตัวแปรที่ทำให้เกิดการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าและกำลังสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก
“ความเสี่ยงที่มากที่สุดของเราในตอนนี้คือเราประกาศชัยชนะที่มีต่อโควิดเร็วเกินไป ดูอย่างประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ตอนนี้การระบาดของโควิดถึงขั้นทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ชมเข้าสนามโอลิมปิคได้ แทนที่อย่างน้อยจะรับผู้ชมเข้าสนามได้ครึ่งหนึ่ง” - ประธานเฟดแห่งซาน ฟรานซิสโก กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากดูจากการปิดตลาดวอลล์สตรีทของดัชนีหลักในสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วที่ยังสามารถสร้างจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ได้ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังไม่ได้กังวลกับโควิดระลอกใหม่มากเท่าไหร่นัก และเป็นเหตุผลให้นายราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดแห่งแอตแลนตากล่าวว่า
“การที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยังขยับตัวขึ้นได้ มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่าเงินเฟ้ออาจอยู่กับพวกเรานานกว่าที่คิด”
อนึ่ง ราฟาเอล บอสติค เป็นหนึ่งในประธานเฟดที่มองว่าอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022
รายงานนโยบายการเงินที่ออกปีละสองครั้งของเฟดเมื่อวันศุกร์ระบุว่าเหล่าผู้วางนโยบายการเงินเริ่มเชื่อแล้วว่าโควิดจะเป็นสิ่งที่คงอยู่ไปอย่างถาวร และอาจจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการเพิ่มคนในตลาดแรงงาน หากยังใช้มาตรวัดหรือวิธีแบบเดิมๆ ในช่วงก่อนโควิด เป้าหมายฟื้นฟูการจ้างงานที่วางเอาไว้อาจจะไม่สามารถทำได้โดยง่าย ที่น่าสนใจคือรายงานนี้ออกมาก่อนการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพุธและพฤหัสบดีนี้
“หลังยุคโควิดวิถีการใช้ชีวิตของมนุษยที่กำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ซึ่งมีส่วนกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานด้วย ดังนั้นมาตรวัดตลาดแรงงานที่เคยมีในยุคก่อนโควิดอาจจะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูตลาดแรงงานได้ ส่วนตอนนี้นั้นเศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาคอขวดทั้งในแง่ของแรงงานและซัพพลายเชน ปัญหานี้จะใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าจะแก้ไขได้ แต่จะไม่คงอยู่ถาวร” - บางส่วนจากรายงานนโยบายการเงิน
ดังนั้นแถลงการณ์ที่พาวเวลล์จะต้องให้กับสภาคองเกรสครั้งนี้จึงค่อนข้างน่าสนใจ เราจะได้เห็นว่าประธานเฟดจะถูกตั้งคำถามและเคลียร์ข้อสงสัยเหล่านั้นอย่างไร ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ และการจ้างงานที่ยังไม่กลับมาดีเหมือนแต่ก่อน