ผมเชื่อว่านักลงทุนที่สิงอยู่ในตลาดหุ้นมาตลอดเดือนมิถุนายนคงจะต้องมีหนาวๆ สั่นๆ กันบ้างในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ไฮไลท์สำคัญของเดือนที่ผ่านมาไม่มีเรื่องไหนเรียกความสนใจจากนักลงทุนได้ดีเท่าผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น จากปี 2023 มาเป็นช่วงปลายปี 2022
ในช่วงแรกหลังจากเฟดประกาศออกมา ตลาดลงทุนก็ถูกเทขายตามระเบียบ เพราะนอกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เฟดยังคิดจะดึงสภาพคล่องออกจากตลาดด้วย ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลง 2% ในขณะที่ดาวโจนส์ลงไป 3% จากจุดปิดในวันที่ 15 มิถุนายน ส่วนแนสแด็กลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่โชคยังดีที่นักลงทุนยังมีสติพอและคิดได้ว่า “กว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก็อีกตั้ง 29 เดือน” หลังจากที่ปรับตัวลดลงสองวันติดต่อกันนับจากวันประกาศ ดัชนีทั้งตลาดก็สามารถปรับตัวกลับขึ้นมา เอสแอนด์พีและดาวโจนส์ขึ้นมา 3.2% และ 3.6% ตามลำดับ แนสแด็กก็ขึ้นมา 3.4% เท่ากับว่าดัชนีบางตัวสามารถกลับขึ้นมาได้เท่ากับก่อนที่จะลงมา บางตัวกลับสูงกว่าก่อนระดับราคาที่จะปรับลง
หุ้นของบริษัทผู้ผลิต iPhone (NASDAQ:AAPL) ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 6% ในช่วงแปดวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน ส่วนคู่แข่งคนสำคัญอย่างไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ 5% เข้าร่วมสมาคมคนมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามตลาดเกิน $2,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐตามแอปเปิลไปเป็นที่เรียบร้อย
ในขณะเดียวกัน หุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเอ็นวีเดีย (NASDAQ:NVDA) ก็สามารถทำขาขึ้นจากวันที่ 17 มิถุนายน ขึ้นมายังระดับราคาในปัจจุบัน คิดเป็นขาขึ้น 12.7%
การย่อตัวที่เหมือนจะตื่นเต้น...แต่ก็ไม่
อันที่จริงเมื่อมองจากภาพรวมแล้ว เดือนมิถุนายนปี 2021 ถือว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับดัชนีหลักเท่าไหร่ เอสแอนด์พี 500 ปิดเดือนมิถุนายนด้วยขาขึ้น 2.2% ทำสถิติขาขึ้นห้าสัปดาห์ติดต่อกัน กลุ่มหุ้นที่มีส่วนช่วยกับขาขึ้นในเอสแอนด์พีเป็นอย่างมากคือเทคโนโลยี สินค้าฟุ่มเฟือย อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน หากนับทั้งไตรมาส พบว่าเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นมา 8.2% และถ้านับตลอดทั้งปีจะพบว่าขึ้นมาแล้ว 14.4%
ดาวโจนส์เรียกได้ว่าเจ็บหนักกว่าเอสแอนด์พี 500 ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนไม่สามารถกลับมาอยู่แดนบวกได้ ปิดติดลบ 0.8% และกลายเป็นขาลงครั้งแรกในรอบสี่เดือนล่าสุด
ขาขึ้นของหุ้นอย่างไนกี้ (NYSE:NKE) แอปเปิล ไมโครซอฟต์และวีซ่า (NYSE:V) ไม่อาจชดเชยขาลงที่เกิดจากหุ้นแคเทอร์พิลลาร์ (NYSE:CAT) โบอิ้ง (NYSE:BA) เจพีมอร์แกน (NYSE:JPM) และทราเวลเลอร์ (NYSE:TRV) ได้ แต่ก็ยังไม่ต้องเสียใจไป เพราะผลงานในไตรมาสที่สองถือว่ายังรักษาขาขึ้น 4.6% เอาไว้ได้ และตลอดทั้งปีก็ยังปรับตัวขึ้น 12.5%
แต่หากจะให้พูดถึงดัชนีที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ แน่นอนว่าเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแนสแด็กที่สามารถทำขาขึ้นในเดือนที่แล้ว 5.5% และตลอดทั้งปีเกือบ 13% หุ้นที่ช่วยดันดัชนีแนสแด็กให้โดดเด่นได้ขนาดนี้คือไมโครซอฟต์ เฟสบุ๊ค (NASDAQ:FB) และเอ็นวีเดีย
การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ทำให้นักลงทุนเซอร์ไพรส์ทั้งตลาดกลับไม่ใช่ผลการประชุมของรอบนี้ที่คงนโยบายการเงินและดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิม แต่เป็นการประกาศว่าอาจจะร่นระยะเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ขยับเข้ามาเร็วขึ้นจากปี 2023 กลายเป็นช่วงปลายปี 2022 ที่สำคัญเฟดยังส่งสัญญาณด้วยว่าเริ่มมีการพูดคุยถึงการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดแล้ว
ตลาดพันธบัตรขานรับคำพูดของประธานเฟดแทบจะทันที กราฟผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจาก 1.58% ในเดือนพฤษภาคมลงมายัง 1.44% ในเดือนมิถุนายน ก่อนหน้านี้ผลตอบแทน 10 ปี เคยทำจุดสูงสุดของปีนี้เอาไว้ที่ 1.77% เมื่อเดือนมีนาคม
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดผลตอบแทนพันธบัตรสะท้อนให้เห็นว่ายังมีนักลงทุนที่ตั้งข้อสงสัยว่าเศรษฐกิจอเมริกาในตอนนี้เติบโตเร็วเกินไปหรือไม่ การตั้งข้อสงสัยนี้มาจากสมมุติฐานที่ว่าอาจได้เห็นประธานาธิบดีโจ ไบเดนออกมาตรการเร่งสภาพคล่องทางเศรษฐกิจอีก อย่างไรก็ตามพรรครีพลับลิกันเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจกับการใช้เงินอย่างเติบมือของท่านประธานาธิบดีเท่าไหร่
นอกจากการประชุมของเฟด ยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่นเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนอีก ยกตัวอย่างเช่น
- อินดิเคเตอร์ RSI ของดัชนีแนสแด็กและแนสแด็ก 100 ขึ้นยืนเหนือ 70 ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าขาขึ้นในดัชนีทั้งสองอยู่ในระดับที่สูงเกินไป โดยปกติแล้วการขึ้นยืนเหนือระดับ 70 ในอินดิเคเตอร์ตัวนี้จะหมายความว่าราคาได้อยู่ในโซน overbought แล้ว
- หุ้นในดัชนีเอสแอนด์พี 500 มีเพียง 220 ตัวเท่านั้นที่สามารถปิดบวกในเดือนมิถุนายนได้เมื่อเทียบกับ 505 ตัว ในขณะที่หุ้นบนดาวโจนส์ 13 ตัวจาก 30 ตัวเท่านั้นที่สามารถปิดบวกได้ นี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าสภาพคล่องในตลาดหุ้นกำลังลดลง
- ต่อเนื่องจากข้อก่อนหน้านี้ ข้อมูลจาก Barchart.com ในวันที่ 12 มีนาคมระบุว่าหุ้น 822 ตัวสามารถขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 52 สัปดาห์ได้ แต่เมื่อกลับมาดูข้อมูลนี้อีกครั้งในวันที่อังคารที่ 29 มิถุนายน พบว่ามีหุ้นเพียง 123 ตัวเท่านั้นที่สามารถทำจุดสูงสุดได้ใหม่ อีก 26 ตัวทำจุดต่ำสุดใหม่ และหุ้นที่สร้างจุดสูงสุดใหม่ในเดือนมิถุนายนได้แก่ ไมโครซอฟต์ คอสโก (NASDAQ:COST) ทาร์เก็ต (NYSE:TGT) เอ็นวีเดีย เฟสบุ๊ก อาโดบี (NASDAQ:ADBE) โมเดิร์นนา (NASDAQ:MRNA) และสมิธแอนด์เวสสัน (NASDAQ:SWBI)
- ราคาน้ำมันดิบขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเดือนมิถุนายนทั้งเดือนพบว่า WTI ปรับตัวขึ้นมาทั้งหมด 10.8% สำหรับไตรมาสที่สองทั้งหมดคิดเป็น 24% และช่วงครึ่งปีแรกทั้งหมดคิดเป็น 50% อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นสร้างผลกระทบต่อต้นทุนของสายการบินและเป็นเหตุให้หุ้นสายการบินถูกกดดัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ (NYSE:DAL) ปรับตัวลดลง 9.3% ตลอดทั้งเดือนมิถุนายน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับสายการบินอื่นๆ ด้วย
- การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังสร้างปัญหาในแง่ของอุปสงค์อุปทานไม่หยุดหย่อน สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือราคาบ้านที่มีราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุเป็นเพราะวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้แปรรูปมีราคาที่แพงขึ้น ในเดือนพฤษภาคมราคาไม้แปรรูปล่วงหน้ามีราคาสูงถึง $1,700 ต่อหนึ่งพันลูกบาศก์ฟุต
ปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนในเดือนกรกฎาคมได้แก่
- การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ตอนนี้กำลังระบาดอย่างรุนแรงในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศก็กำลังเริ่มเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน
- ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างชาติตะวันตก ตะวันออกกลาง และประเทศจีน
- เกมการเมืองภายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังหวังว่าเขาจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีได้อีกในสมัยหน้า
- สภาพอากาศแปรปรวน เช่น ไฟป่า หรือ พายุเฮอริเคน
โดยภาพรวมแล้ว เรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจอเมริกายังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัว ชาวอเมริกันได้รับวัคซีนมากขึ้น การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ การกลับไปทำงาน ก็เป็นภาพที่ไม่ได้สัมผัสได้ในเชิงของความรู้สึก แต่พิสูจน์ให้เห็นจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ มีตัวเลขอยู่ที่ 364,000 ตำแหน่ง นี่คือตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตามภาพรวมของการฟื้นตัวในตลาดแรงงานก็ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนมิถุนายนที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ สองเดือนก่อนหน้านี้ NFP มีตัวเลขเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์มาได้สองครั้งติดต่อกัน ซึ่งสามารถตีความได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวก็จริง แต่ยังช้าอยู่
สำหรับการประกาศในวันนี้ investing.com คาดว่าการจ้างงานในเดือนมิถุนายนจะมีตัวเลขอยู่ที่ 700,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานจะลดลงจาก 5.8% ในเดือนพฤษภาคมเหลือ 5.7% ในเดือนมิถุนายน
หุ้นกลุ่มไหนบ้างที่เป็นผู้ชนะในเดือนมิถุนายน
ที่มา, next two charts: S&P Dow Jones Indices
เมื่อพิจารณาแยกหุ้นผู้ชนะและผู้แพ้ออกเป็นกลุ่มๆ แล้ว เราสามารถแบ่งออกมาได้ตามนี้
เทคโนโลยี: Enphase (NASDAQ:ENPH), NVIDIA, Adobe และ Advanced Micro Devices (NASDAQ:AMD) ทั้งหมดนี้ปรับตัวขึ้นตลอดทั้งเดือน 16% กองทุน Ark Innovation ของเคธี วูด (NYSE:ARKK) ก็ปรับตัวขึ้น 17.7% ในเดือนนี้เช่นกัน ส่วน Tesla (NASDAQ:TSLA) ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่สำคัญ
พลังงาน: Occidental Petroleum (NYSE:OXY) ปรับขึ้นมากกว่า 21%; Diamondback Energy(NASDAQ:FANG) ขึ้น 18% และ Marathon Oil (NYSE:MRO) 12% กองทุน ETF อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดพลังงานก็ปรับตัวขึ้นตามด้วย
สินค้าฟุ่มเฟือย: ETSY (NASDAQ:ETSY), eBay (NASDAQ:EBAY), CarMax (NYSE:KMX), Nike และ Chipotle Mexican Grill (NYSE:CMG) คือผู้ที่ช่วยดันหุ้นกลุ่มนี้ให้ปรับตัวขึ้น ในขณะที่ Amazon (NASDAQ:AMZN) ปรับตัวขึ้นมา 7.4%
ผู้ให้บริการด้านการติดต่อสื่อสาร: Twitter (NYSE:TWTR) ปรับตัวขึ้น 18% ตามมาด้วย Facebook และ Netflix (NASDAQ:NFLX) อีกตัวละ 6%
ดูแลสุขภาพ: Biogen (NASDAQ:BIIB) ขึ้นมา 31% ResMed (NYSE:RMD) 19.8% และ Moderna 19%
หุ้นที่ทำผลงานได้ไม่น่าประทับใจในเดือนนี้
กลุ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัย: D.R. Horton (NYSE:DHI) ปรับตัวลดลงมากกว่า 5.6% PulteGroup (NYSE:PHM) ปรับตัวลดลง 5.7% สาเหตุไม่ได้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นเพราะราคาวัสดุที่อยู่สูงเกินไป
กลุ่มธนาคาร: Citigroup (NYSE:C) และ Huntington Bancshares (NASDAQ:HBAN) ปรับตัวลดลง 10% ในขณะที่ Regions Financial (NYSE:RF) ปรับตัวลดลง 13.8% สำหรับกลุ่มนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำคือปัญหา ทำให้ธนาคารมีรายได้ลดลง
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง: Freeport McMoRan Copper & Gold (NYSE:FCX) Mosaic (NYSE:MOS) และ Newmont Mining (NYSE:NEM) ทั้งหมดนี้ต่างพากันปรับตัวลดลง 12% เหมือนกัน แร่ทองแดงปรับตัวลดลงเพราะการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามทองแดงตลอดทั้งปียังสามารถปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมด 22%