ครั้งหนึ่งในสมัยที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนพึ่งขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ๆ ฉันเคยเขียนบทความเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของนโยบายพลังงานภายใต้การบริหารของโจ ไบเดน หกเดือนหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง วันนี้เราได้เห็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานขึ้นแตะ $75 ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดิบ WTI สามารถขึ้นไปจนเกือบแตะ $73 ต่อบาร์เรล สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2018 ย่อมแสดงให้เห็นว่าทิศทางการบริหารอเมริกาของโจ ไบเดน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีอะไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาดูไปพร้อมๆ กัน
1. ยกเลิกการใช้งานท่อส่งน้ำมัน Keystone XL
สิ่งแรกที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนทำทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง นอกจากการพาอเมริกากลับเข้าสู่สนธิสัญญาปารีสแล้ว เขาได้ยกเลิกโครงการสร้างท้อส่งน้ำมัน Keystone XL ส่งผลให้การทำงานที่ท่อส่งน้ำมันนี้ต้องหยุดทำงานทันที มีคนตกงานมากกว่า 100 คน และบริษัท TC Energy (NYSE:TRP) ที่เป็นคนสร้างท่อส่งน้ำมันนี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของโจ ไบเดน
ในเดือนมีนาคม 21 รัฐได้ยื่นฟ้องต่อการกระทำของรัฐบาลโจ ไบเดนเกี่ยวกับการยกเลิกครั้งนี้ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือบริษัท TC Energy กลับตัดสินใจไม่เอาความ และบอกว่าการหยุดใช้งานท่อส่งน้ำมันนี้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับทุกฝ่าย
ในเวลานั้นเรื่องนี้ยังไม่สร้างผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าท่อส่งน้ำมันสายนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ราคาน้ำมันและพลังงานเชื้อเพลิงอาจได้รับผลกระทบทันทีหากต่อจากนี้โจ ไบเดนพยายามที่จะปิดท่อส่งน้ำมันที่เหลือ อย่างที่เราได้เห็นไปแล้วในเดือนพฤษภาคมว่าเพียงแค่ปิดท่อส่งน้ำมัน Colonial Pipeline ก็สามารถสร้างความโกลาหลให้กับราคาน้ำมันในหลายๆ รัฐทางภาคตะวันออกได้มากขนาดไหน
เหตุการณ์ที่เกิดอาจมีส่วนทำให้ศาลของรัฐมินนิโซตาออกคำสั่งอนุญาตให้บริษัท Enbridge (NYSE:ENB) สามารถขยายท่อส่งน้ำมันออกมาอีกสามท่อ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำมันจำนวน 760,000 บาร์เรลต่อวันจากเมืองอัลเบอร์ต้ามายังรัฐวิสคอนซินได้ และคาดว่าการสร้างท่อส่งน้ำมันนี้จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่สี่ปี 2021 นี้
หากโจ ไบเดนทำตามสิ่งที่เค้าหาเสียงจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะลงมายุ่งกับคำสั่งอนุญาตให้มีการสร้างท่อส่งน้ำมันนี้ และยิ่งต่อต้านมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าซัพพลายของตลาดน้ำมันก็ยิ่งจะน้อยลง และผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
2. หยุดการให้สัปทานขุดน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติบนพื้นที่ของรัฐ
อีกหนึ่งสิ่งที่โจ ไบเดนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดหลังจากสามารถเข้ามานั่งในทำเนียบขาวได้แล้วคือการระงับสัปทานที่อนุญาตให้เอกชนสามารถเข้ามาขุดน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ของรัฐอย่างไม่มีกำหนด ทันทีที่มีการประกาศออกมาในตอนแรก ราคาน้ำมันก็ดีดตัวขึ้นทันที จนถึงตอนนี้ซึ่งผ่านมาครึ่งปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในเรื่องนี้
หลังจากนั้นฝั่งนักวิเคราะห์ก็ลงความเห็นกันว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของโจ ไบเดนสร้างผลกระทบให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจริง เพราะเรื่องนี้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทน้ำมันที่กำลังจะลงทุนกับการเปิดหลุมเพิ่มหรือซื้อแท่นขุดเจาะน้ำมันใหม่ ข้อมูลจากผลสำรวจบริษัทผู้ผลิตน้ำมันภายในประเทศโดยธนาคารกลางดัลลัสระบุว่า 58% ของบริษัทเอกชนเหล่านี้มีความกังวลว่านโยบายของโจ ไบเดนจะทำให้ธุรกิจของพวกเขาไม่ได้กำไร นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงยังลังเลที่จะลงทุนกับการขุดเจาะน้ำมันบ่อใหม่ ผลที่ตามมาก็คือราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซ้ำยังได้ผลกระทบมาจากการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกที่คงนโยบายการผลิตน้ำมันเอาไว้ดังเดิม
แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดของโจ ไบเดน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่าศาลแห่งหลุยส์เซียนาได้ออก “คำสั่งห้ามชั่วคราว” มาค้านคำสั่งหยุดให้สัมปทานขุดน้ำมันของโจ ไบเดน ศาลแห่งหลุยส์เซียนาให้เหตุผลว่าโจ ไบเดนไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการใช้คำสั่งนี้ ยกเว้นว่าจะได้รับอนุญาตจากสภาคองเกรสแล้วเท่านั้น
3. ควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทน
อีกหนึ่งคำสั่งที่โจ ไบเดนให้มีผลบังคับใช้ในทันทีหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งคือการสั่งให้ EPA ยกเลิกคำสั่งที่ทรัมป์เคยระงับกฎควบคุมการปล่อยก๊าซมีแทนของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งกฎนี้จะบังคับให้บริษัทต้องควบคุมการทำงานที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนรั่วไหล สำหรับกฎหมายใหม่ฉบับนี้คาดว่าจะถูกทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าโจ ไบเดนจะยกสิ่งที่โอบามาเคยทำเอาไว้มาทั้งหมดเลย หรือมีข้อกฎหมายใหม่เพิ่มเติมเข้ามา
หากโจ ไบเดนตัดสินใจทำเพียงนำเอากฎของสมัยโอบามากลับมาใช้ทั้งหมด จะส่งผลดีกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันมากกว่า แม้จะมีผลกระทบแต่ก็ไม่มากมายนัก แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริษัทขนาดเล็ก เพราะพวกเขาต้องลงทุนเพิ่มกับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ดูในเรื่องของก๊าซมีเทน แต่ถ้าเป็นกฎใหม่ในสไตล์ของโจ ไบเดนที่มีความเข้มงวดขึ้น รับรองได้ว่าจะส่งผลกระทบกับทั้งบริษัทขนาดเล็กและใหญ่ ท้ายที่สุดก็จะทำให้บริษัทเหล่านี้ลังเลกับการลงทุนในการขุดเจาะน้ำมัน และเมื่อซัพพลายลดลง ราคาน้ำมันก็จะปรับตัวสูงขึ้น
แน่นอนว่ารัฐบาลโจ ไบเดนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลก การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งในสามอันดับแรกที่ครอบครองปริมาณการผลิตน้ำมันสูงที่สุดในโลกเท่านั้น เรายังต้องหันไปจับตาตัวแปรอื่นๆ อีกเช่นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และความเคลื่อนไหวของประเทศผู้ใช้งานน้ำมันเป็นหลักอย่างจีนและอินเดีย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันทั้งสิ้น แต่ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายในตอนนี้ของไบเดนได้สร้างผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นเอกชนแน่นอน