Investing.com - ราคาน้ำมันขยับเล็กน้อยในตลาดเอเชียวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อรอดูทิศทางดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐ ขณะเดียวกันกับข้อมูลสินค้าคงคลังน้ำมันในสหรัฐฯ ก็ให้สัญญาณที่ไม่ชัดเจน
ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบในสัปดาห์นี้ หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าจากแนวโน้มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวกลับไม่ยั่งยืนเนื่องจากความกังวลเรื่องอุปสงค์ในจีนที่อ่อนแอลง และความกังวลเรื่องน้ำมันล้นตลาดในปีหน้า
ตลาดน้ำมันยังเผชิญแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังคงให้น้ำหนักต่อดอลลาร์ก่อนการประชุมเฟดที่จะสิ้นสุดในวันนี้
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ฟิวเจอร์ส ที่จะครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ทรงตัวที่ 73.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ น้ำมันดิบ WTI ฟิวเจอร์ส ทรงตัวที่ 69.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 08:11 น. (GMT+7)
น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐลดลง แต่น้ำมันผลิตภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น
ข้อมูลจาก สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน เมื่อคืนวันอังคารแสดงให้เห็นว่าสินค้าคงคลังน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 4.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ของวันที่ 13 ธันวาคม มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม สินค้าคงคลังน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล และน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าถึงแม้อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะตึงตัว แต่ความต้องการเชื้อเพลิงอาจลดลงตามการเดินทางที่น้อยลงในช่วงฤดูหนาว ซึ่งแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยก็อีกสองเดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การลดลงของสินค้าคงคลังในสัปดาห์นี้ก็เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงสองสัปดาห์ติดต่อกัน ข้อมูลจาก API มักจะประกาสตัวเลขที่คล้ายกันกับ ข้อมูลสินค้าคงคลังน้ำมันของรัฐบาล ซึ่งมีกำหนดการณ์จะเผยแพร่ในวันนี้
จับตาสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากเฟด
ความสนใจของตลาดในสัปดาห์นี้ยังคงโฟกัสไปที่ การประชุมเฟด ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้
แม้ธนาคารกลางคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 จุดพื้นฐาน แต่นักลงทุนก็กำลังจับตาดูสัญญาณว่าการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนต่อ ๆ ไปจะชะลอตัวลงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง การใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่มีความแข็งแกร่ง
ความคาดหวังต่อสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงิน ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น ซึ่งกดดันราคาน้ำมัน
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปีหน้าก็คาดว่าจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจลดความต้องการน้ำมันลง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐนั้นอาจช่วยชดเชยแนวโน้มนี้ได้
ความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวยังคงมีอยู่ หลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ค่อนข้างธรรมดาในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สัญญาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากจีนก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก