สิ่งที่นักลงทุนในตลาดจับตาดูมากที่สุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและผลกระทบของการฟื้นตัวที่มีผลต่อดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) และตัวเลขยอดค้าปลีกจะออกมาน่าผิดหวัง แต่การอ่อนค่าของดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนลงจนน่าตกใจ ขนาดตลาดหุ้นเมื่อคืนนี้ก็สามารถดีดตัวกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดของสัปดาห์ที่แล้วได้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำบรรยากาศการลงทุนว่ายังมีความมั่นใจกับภาพรวมการฟื้นตัวของโลกอยู่
หากดูการฟื้นตัวโดยรวมแล้ว ตอนนี้มีเพียงภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นประเทศจีน) เท่านั้นที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ทวีปยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางสังคมแล้ว สหราชอาณาจักรเริ่มผ่อนปรนมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารภายในบ้านลงนับตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป สเปนพึ่งยกเลิกเคอร์ฟิวไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่วนของอิตาลีจะยกเลิกเคอร์ฟิวในสัปดาห์หน้า ฝรั่งเศสจะยกเลิกเคอร์ฟิวในช่วงหัวค่ำในวันพรุ่งนี้ และอนุญาตให้สามารถนั่งรับประทานในร้านอาหารหรือบริเวณด้านนอกคาเฟ่ได้
จากสิ่งที่กล่าวมาทำให้เชื่อได้ว่าภาพรวมการฟื้นตัวทั่วโลกในสัปดาห์นี้จะดูดีขึ้นโดยเฉพาะที่ยุโรป ที่สำคัญสัปดาห์นี้ฝั่งยุโรปจะมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเยอะเป็นพิเศษ ตั้งแต่การรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานว่างงาน การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและตัวเลขยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าตัวเลขของสหราชอาณาจักรจะออกมาดีขึ้น และคาดว่าภาพรวมความเชื่อมั่นของนักธุรกิจของเยอรมันซึ่งถือเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรปจะดูมีความมั่นใจขึ้น แม้ว่าพึ่งจะผ่านการล็อกดาวน์ในช่วงมีนาคม-เมษายนมาก็ตาม ดังนั้นสัปดาห์นี้เราจึงขอแนะนำกราฟคู่สกุลเงินยูโรและปอนด์เทียบดอลลาร์เป็นพิเศษ โดยกราฟ EUR/USD มีโอกาสขึ้นแตะ 1.22 ได้ส่วนกราฟ GBP/USD จะมีโอกาสขึ้นแตะ 1.42
การที่สัปดาห์นี้ฝั่งสหรัฐฯ ไม่มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจะยิ่งเปิดโอกาสให้กราฟทั้งสองปรับตัวสูงขึ้น อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าถึงตัวเลข NFP และค้าปลีกจะออกมาไม่ดี แต่ภาพรวมของการฟื้นตัวที่มีประสิทธิภาพนั้นจะช่วยพยุงดอลลาร์สหรัฐเอาไว้ไม่ให้อ่อนค่าลงอย่างฉับพลัน สังเกตได้จากการรายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตตที่เพิ่มขึ้นได้ไม่สูงกว่าตัวเลขของเดือนก่อนหน้า แต่ก็ไม่ทำให้ตลาดรู้สึกขาดความเชื่อมั่นแต่อย่างใด สำหรับกราฟ USD/JPY ในระยะสั้นอาจปรับตัวลดลงต่อจนอาจจะสามารถลงไปวิ่งต่ำกว่าระดับราคา 109 รอวันที่ตัวเลขเศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญมากกว่านี้จึงจะพากราฟให้กลับขึ้นมายืนเหนือระดับราคา 109 ได้อีกครั้ง
ไม่น่าแปลกใจที่ได้เห็นตัวเลข GDP เบื้องต้นของญี่ปุ่นหดตัว ตัวเลข GDP แบบ QoQ ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ -1.1% เป็น -1.3% ในขณะที่ตัวเลขแบบ YoY ลดลงจาก -0.1% เป็น -0.2% นี่คือผลกระทบจากการการบริหารวัคซีนที่ยังไม่ดีพอของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตอนนี้ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศฐานเศรษฐกิจสำคัญประเทศเดียวที่ประชากรได้รับวัคซีนครบโดสน้อยกว่า 1% ยิ่งญี่ปุ่นฉีดวัคซีนได้ช้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศและชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจออกไปมากเท่านั้น
สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อวานนี้คือดอลลาร์แคนาดาที่พากราฟ USD/CAD ปรับตัวลดลงต่อจนมีราคาล่าสุดอยู่ต่ำกว่า 1.2040 แม้ว่าตัวเลขที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างจะลดลง แต่ดอลลาร์แคนาดาได้แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่หนุนราคาน้ำมันอีกที สัปดาห์นี้แคนาดาจะมีรายงานตัวเลขเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อซึ่งคาดว่าจะขยายตัวขึ้นเช่นเดียวกับของสหรัฐฯ การแข็งค่าของดอลลาร์แคนาดาสวนทางกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ ทั้งสองสกุลเงินได้รับผลกระทบจากการบริโภคภายในประเทศจีนที่ลดลง แม้ว่าตัวเลขกิจกรรมในภาคการบริการเมื่อเดือนเมษายนของนิวซีแลนด์จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังดีพอที่จะชดเชยตัวเลขกิจกรรมในภาคการผลิตที่ลดลงไปก่อนหน้านี้