ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดตัวกลับขึ้นมาปิดตลาดมากกว่า 400 จุดเมื่อวานนี้ ในขณะที่ตลาดสกุลเงินกลับไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มากนัก สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนในตลาดสกุลเงินยังเชื่อว่าแนมโน้มขาลงยังจะไม่จบง่ายๆ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเยน สวิตฟรังก์และดอลลาร์นิวซีแลนด์ แต่แทบไม่มีผลอะไรเลยเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและดอลลาร์ออสเตรเลีย สกุลเงินปอนด์เป็นสกุลเงินเดียวที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนักลงทุนปิดคำสั่งซื้อขายเพื่อทำกำไรหลังจากที่กราฟขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบสองเดือนได้สำเร็จไปตั้งแต่วันจันทร์
โดยรวมแล้วสัปดาห์นี้ถือว่าเป็นสัปดาห์ที่มีความผันผวนสูงพอสมควร และความผันผวนนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้นแม้กับการรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคสั่นคลอนความเชื่อมั่นของตลาดลงทุนไปแล้ว ตอนนี้นักลงทุนกำลังสนใจว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคนั้นจะยังมีมากน้อยแค่ไหน นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกแบบเดือนต่อเดือนจะเพิ่มขึ้น 1% เทียบจากตัวเลขครั้งก่อนที่เพิ่มขึ้นมา 9.8% เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปริมาณการจับจ่ายใช้สอยอาจจะลดลงเป็นเพราะพวกเขาเห็นสัญญาณการใช้งานจากบัตรเครดิตลดลง
หากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5% หรือมากกว่านั้น กราฟ USD/JPY จะสามารถขึ้นแตะระดับราคา 110 ได้ในขณะที่กราฟ EUR/USD จะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1.20 แต่ถ้าตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาอยู่ที่ 1% หรือติดลบ จะทำให้ตลาดหุ้นและสกุลเงินปรับตัวลดลงทันทีเพราะนั่นหมายถึงสัญญาณการบริโภคหดตัว ถ้าหากตัวเลขออกมาอยู่ระหว่าง 2-4% จะหมายถึงสถานการณ์ปกติ ถึงในสายตาของนักลงทุนจะมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่สำหรับคนทั่วไปที่มองเข้ามากลับมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นทำได้ดีมากๆ กรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) พึ่งประกาศให้ชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วสามารถถอดหน้ากาก ออกมาทำกิจกรรมในที่โล่งได้ ข่าวดีนี้จะยิ่งกระตุ้นให้ชาวอเมริกันที่ปกติไม่ชอบใส่หน้ากากอยู่แล้วยิ่งอยากออกมาฉีดวัคซีน และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น
การเติบโตของตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ จะส่งผลให้สกุลเงินหลักส่วนใหญ่แข็งค่า เพราะยิ่งอเมริกาฟื้นตัวได้เร็วเท่าไหร่ ก็หมายความว่าโลกก็จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วตามไปด้วย การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปก็ทำได้ดีขึ้นตามลำดับ บางประเทศในกลุ่มยูโรโซนเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางสังคม เชื่อว่าการท่องเที่ยวในยุโรปจะเริ่มกลับมาคึกคักภายในช่วงฤดูร้อนนี้ ในช่วงเวลานั้นเชื่อว่าสกุลเงินยูโร ปอนด์ และดอลลาร์แคนาดาซึ่งเป็นสกุลเงินหลักอยู่แล้ว จะยิ่งแข็งค่าและกลับมาปรับตัวขึ้นได้ง่ายมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้