หลังจากปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุด 1.76% ล่าสุดกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงมาวิ่งอยู่ที่ 1.58% โดยประมาณ นักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุที่กราฟผลตอบแทนฯ ยังไม่ขยับขึ้นยืนเหนือ 1.6% เพราะต้องการรอประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่หนึ่งปี 2021 ของสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้
สำหรับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารและวันพุธนี้ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างเซอร์ไพรส์ใดๆ ให้กับกราฟผลตอบแทนฯ พวกเขามองว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะออกมาย้ำเรื่องเดิมอย่างที่เราเคยชินกันอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น การคงนโยบายทางการเงินเอาไว้ดังเดิม พูดถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว เหตุผลในการคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ดังเดิมและเป้าการจ้างงานเต็มรูปแบบที่จะไม่ยอมเปลี่ยนนโยบายใดจนกว่าจะถึงเป้าหมายนี้
นายไมเคิล ชูมัคเชอร์ นักวิเคราะห์จากธนาคารเวลล์ ฟาร์โกบอกกับ CNBC ว่ากราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ อายุ 10 ปีอาจขึ้นแตะ 2.1-2.4% ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะเดียวกันนายแลร์ลี่ ลินด์ซีย์ ผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่ากราฟผลตอบแทนฯ อาจขึ้นถึง 3% ได้ภายในช่วงเวลาเดียวกัน
สิ่งที่จะทำให้ตลาดลงทุนมีปฏิกริยากับกราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีได้คือตัวเลข GDP ต้องออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 6.9% หรือตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะต้องลดลงต่ำกว่า 550,000 คน เพราะสัญญาณทั้งสองหมายถึงการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ
สิ่งที่ทำให้การประชุมของธนาคารสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ (ทั้งๆ ที่คาดว่าเฟดก็คงจะแถลงเหมือนเดิม) เพราะสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ประกาศลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจาก 4,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาเป็น 3,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดลงทุนเป็นอย่างมาก นี่คือธนาคารกลางหลักแห่งแรกของโลกที่เริ่มแตะเบรก QE ก็ว่าได้ ตลาดลงทุนจึงค่อนข้างคาดหวังว่าเฟดจะดำเนินนโยบายเช่นเดียวกันกับ BoC ปัจจุบันกราฟผลตอบแทนพันธบัตรแคนาดาอายุ 10 ปีวิ่งอยู่ที่ 1.5% โดยประมาณ
ข้ามฝากไปดูสถานการณ์ที่ฝั่งยุโรป ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซน ลาสุด ECB พึ่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวงเงิน 22,250 ล้านยูโรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นี่คือวงเงินที่เพิ่มขึ้นสามเท่าจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ในช่วงสัปดาห์สงกรานต์
ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันได้อนุมัติให้รัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินเยียวยาเศรษฐกิจตามแผนของสหภาพยุโรปได้ หมายความว่าสหภาพยุโรปจะสามารถออกพันธบัตรในนามของยูโรโซนได้ด้วยตัวเอง คิดเป็นวงเงินมูลค่า 750,000 ล้านยูโร การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้สร้างความสงสัยให้กับตลาดลงทุนเพราะตอนแรกศาลฯ มีคำวินิจฉัยให้ระงับโครงการนี้ไปก่อน ก่อนจะมาเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเยอรมันที่มีต่อกลุ่มสหภาพยุโรปว่าพวกเขามีพลังมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ของรัฐบาลเยอรมันเพื่ออุ้มสหภาพยุโรปได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในประเทศอยู่พอสมควร ชาวเยอรมันบางส่วนไม่ต้องการจ่ายภาษีของตนเพื่อให้เอาไปอุ้มประเทศอื่นๆ หมายความว่าในอนาคตจะมีชาวเยอรมันที่พยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินภาษีมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวอย่างให้ประชาชนในประเทศสมาชิกรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและพากันไม่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน
การอัดฉีดเงินของสหภาพยุโรปทำให้กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปีที่นักวิเคราะห์เรียกเล่นๆ ว่าเป็นมาตรวัดตลาดผลตอบแทนของสหภาพยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก -0.67% เป็น -0.25% ภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ตั้งแต่สหภาพยุโรปประกาศทำแผนฟื้นฟูในปีที่แล้ว มีเพียงสองในสามจาก 27 ชาติสมาชิกเท่านั้นที่ปฏิบัติตามแผนของกลุ่มอย่างจริงจัง