ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง หลักฐานล่าสุดก็คือการขยายตัวของดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 60.6 และ 63.1 ตามลำดับ และยังมีตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ของเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,021K ข่าวดีเหล่านี้ส่งผลให้ดัชนีหลักทั้งสี่ของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500 แนสแด็กและรัสเซล 2000สามารถปิดวันสุดท้ายของการลงทุนในสัปดาห์ที่แล้วเป็นบวกได้หมดทุกกระดานลงทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์กลับพบว่าความเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่แล้วเอนไปทางฝั่งลบมากกว่าบวกจากความกังวลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงระบาดหนักทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนประเทศแถบเอเชีย ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จบสัปดาห์ที่แล้วติดลบ 0.1% แนสแด็กติดลบ 0.3% ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 0.5% แต่การที่ดัชนีทุกตัวสามารถปิดบวกได้เมื่อวันศุกร์ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ตลาดมีต่อการลงทุนในสัปดาห์นี้ซึ่งจะมีการรายงานตัวเลขผลประการจากบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) แอปเปิล (NASDAQ:AAPL) อะเมซอน (NASDAQ:AMZN) เป็นต้น
ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยครั้งนี้ไม่เพียงแต่เอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ แต่ยังเป็นระดับตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องจำไว้ก็คือครั้งสุดท้ายที่ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นสูงขนาดนี้ ก็จบลงที่ปัญหาฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน ในตอนนั้นก็มีบางฝ่ายที่โทษว่านี่เป็นความผิดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาจาก 6.5% เป็น 1.0%
ในความเห็นส่วนตัวของ investing.com เรามองว่าดราม่าสำคัญที่ทำให้นักลงทุนในตลาดถกเถียงกันนี่คือจุดที่สมควรทำกำไรแล้วออกจากตลาดแล้วหรือไม่ เพราะดัชนีหลักสามจากสี่ตัวก็ยังวิ่งอยู่ในลักษณะที่พร้อมปรับตัวขึ้นต่อ แนสแด็ก 100คือดัชนีที่ปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ ทำขาขึ้น 11.25% นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในวันที่ 25 มีนาคม
ขาขึ้นครั้งนี้ของแนสแด็ก 100 ยังสามารถเอาชนะรัสเซล 2000 ที่ทำขาขึ้นได้ 8.6% ภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน นำมาซึ่งคำถามที่ว่าตอนนี้นักลงทุนได้ย้ายจากกลุ่มวัฎจักรไปสู่หุ้นในกลุ่มเน้นมูลค่าแล้วหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่เช่นนั้นแล้วหุ้นใหญ่ๆ ในกลุ่มเทคโนโลยีจะยังรักษาความเป็นผู้นำเช่นนี้ได้อย่างไร
เมื่อพิจารณาจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วพบว่ารัสเซล 2000 กำลังแสดงให้เห็นถึงการอ่อนแรง นอกจากจะวิ่งอยู่ในกรอบ เรายังสามารถพิจารณาพฤติกรรมราคาตอนนี้ได้ด้วยว่าเป็นการฟอร์มตัวแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ซึ่งอาจกลายเป็นสัญญาณขาลงต่อไปในอนาคต
ความเคลื่อนไหวสำคัญในหุ้นกลุ่มต่างๆ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วพบว่า หุ้นในกลุ่มการเงิน คือผู้ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีที่สุดคิดเป็น 1.9% ตามมาด้วยกลุ่มเทคโนโลยี 1.5% ในขณะที่หุ้นในกลุ่มสินค้าจำเป็นและกลุ่มอุปโภคบริโภคกลับขยับตัวเพียงเล็กน้อยคิดเป็น -0.25% และ 0.1% ตามลำดับ
นอกจากสี่กลุ่มที่พูดถึงไป หุ้นกลุ่มอื่นๆ ก็มีความเคลื่อนไหวที่ทำให้ตลาดไม่แน่ใจว่าธีมขาขึ้นของหุ้นกลุ่มวัฎจักรนั้นเบาบางลงแล้วหรือไม่ หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้น 2% กลุ่มการดูแลสุขภาพปรับตัวขึ้น 1.8% กลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.4% ตามมาด้วยกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 0.3% และ{{1084244|ผู้ให้บริการโทรคมนาคม}ติดลบ 0.5%
ปัจจัยเชิงลบที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนของสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์นี้มีอยู่สองประเด็นใหญ่ หนึ่งคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว ในขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่พบว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 300,000 คนต่อวัน นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจจะได้เห็นตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อจากอินเดียมากถึงวันละ 500,000 คนได้
ปัจจัยที่สองคือการประกาศขึ้นภาษีรายได้จากตลาดหุ้นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำเนียบขาวต้องการเพิ่มภาษีจากบริษัทเอกชนขึ้นจาก 21% เป็น 28% ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโจ ไบเดนก็ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้วว่าเขาจะขึ้นภาษีบริษัทเอกชนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นักลงทุนยังไม่แน่ใจและไม่กล้าฟันธงก็คือเมื่อนโยบายนี้ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้วจริงๆ จะส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนมากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่าทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นในเรื่องของการเก็บภาษีในปี 1969 1976 และ 1986 พบว่าตลาดหุ้นกลับสามารถปรับตัวขึ้นได้โดยเฉลี่ย 28% FactSet ยังแนะนำอีกว่าสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสนใจและจะเป็นตัวแปรต่อตลาดหุ้นมากกว่าคือนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) ในช่วงเวลานั้นๆ
ข้อมูลที่เรานำมาอ้างอิงเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะร่วง แต่เราเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนการลงทุนในกลุ่มหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่รอบๆ อย่างเช่นเศรษฐกิจภายในและต่างประเทศและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด สิ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นยังสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทุกวันนี้เกิดขึ้นมาจากอัตราเงินเฟ้อและการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งตัวเลขการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งในสภาวะที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ ประกอบการการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ในยุโรป จึงไม่แปลกใจที่เราจะยังมีโอกาสได้เห็นหุ้นของบริษัทในเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้ารายงานผลประกอบการของบริษัทชื่อดังในสัปดาห์นี้สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ ตลาดลงทุนก็จะยิ่งกล้าที่จะยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
การที่กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงแสดงให้เห็นว่านักลงทุนไม่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถขึ้นได้เร็วพอจนทำให้เฟดเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนกำหนด
จากรูปจะเห็นว่ากราฟผลตอบแทนฯ อายุ 10 ปีสามารถปรับตัวลดลงมาปิดต่ำกว่ากรอบสามเหลี่ยมรูปธงได้แล้ว นี่คือสัญญาณยืนยันว่ามีโอกาสที่เราจะได้เห็นผลตอบแทนฯ ลงไปอยู่ที่ 1.4%
การปรับตัวลดลงของกราฟผลตอบแทนฯ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลดลงมาด้วย
ปัจจุบันการอ่อนค่าของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้ลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยหลัก 100 วันแล้ว แต่สิ่งที่น่าจับตาดูในสัปดาห์นี้คือพฤติกรรมของกราฟที่เส้นค่าเฉลี่ย 200 วันเนื่องจากบริเวณนี้เป็นบริเวณเดียวกับจุดที่คาดว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะลงมาถึงหลังจากหลุดออกจากรูปแบบลิ่มลู่ขึ้น (Rising Wedge) ก่อนหน้า
ราคาทองคำปรับตัวย่อลงมาสองวันติดต่อกัน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ มีความน่าดึงดูดในฐานะสินทรัพย์สำรองปลอดภัยมากกว่า
ขาขึ้นของราคาทองคำจากรูปแบบ double-bottom ยังคงอยู่ในเส้นทางการพิสูจน์ตัวเองเพราะแนวโน้มหลักก็ยังเป็นแนวโน้มขาลงอยู่ อย่างไรก็ตามขาขึ้นของทองคำในช่วงนี้สอดคล้องกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง
ขาลงล่าสุดของสกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งอย่างบิทคอยน์กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงระหว่างฝั่งอนุรักษนิยมกับฝั่งหัวก้าวหน้าว่าตอนนี้ถึงช่วงการปรับตัวลงครั้งใหญ่ตามธรรมเนียมแล้วหรือไม่
ขาขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้ของบิทคอยน์ นับเป็นขาขึ้นครั้งที่สามตั้งแต่ที่บิทคอยน์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก นักลงทุนรายย่อยทุกวันนี้บางคนยังไม่เคยอยู่ในช่วงเวลาที่บิทคอยน์ปรับตัวลดลงมากกว่า 70% จึงไม่แปลกใจที่เราจะเริ่มเห็นฝั่งอนุรักษ์นิยมออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่ของบิทคอยน์มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้
หากมองจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะเห็นว่าราคาบิทคอยน์ยังคงอยู่ในกรอบราคาขาขึ้นระยะยาว มีเส้นแนวรับอยู่ที่เส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน แต่การที่เกิดแท่งเทียนรูปแบบค้อนขึ้นหลังจากหลุดเส้นเทรนด์ไลน์ลงมาแล้ว หมายความว่าขาลงยังมีโอกาสไปต่อ
แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนที่เชื่อว่าต่อให้บิทคอยน์ปรับตัวลงมามากกว่านี้ก็เป็นเพียงการปรับฐานเท่านั้น นายเดวิด กริดเดอร์ นักวิเคราะห์จาก Fundstrat Lead Digital Asset วิเคราะห์ว่าช่วงเวลานี้คือการย่อก่อนที่บิทคอยน์จะทะยานขึ้นถึง $100,000 ในความเห็นของเรา บริเวณที่เหมาะสมสำหรับการเข้าซื้อบิทคอยน์อยู่ที่แนวรับ $45,000
สลัมเบอเจอร์ (NYSE:SLB) บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกคาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ และการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐก็ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ที่ผ่านมา
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันดิบ WTI สามารถหลุดกรอบสามเหลี่ยมรูปธง (จุดสีแดง) ขึ้นมาได้แล้ว ในขณะที่อินดิเคเตอร์อย่าง MACE RSI และ ROC ต่างก็ส่งสัญญาณของขาขึ้นมาอย่างชัดเจน RSI และ ROC ปรับตัวขึ้นในกรอบ ส่วน MACD นั้นจะเห็นว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นสามารถตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวขึ้นมาได้แล้ว
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
04:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดบรรยากาศทางธุรกิจโดย IFO: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 96.6 เป็น 97.8
08:30 (สหรัฐฯ) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.9% เป็น 1.6%
21:54 (ญี่ปุ่น) ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น: คาดว่าจะคงที่ -0.10%
23:00 (ญี่ปุ่น) รายงานภาพรวมและนโยบายการเงินจากธนาคารกลางญี่ปุ่น
วันอังคาร
11:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 109.7 เป็น 112.1
21:30 (ออสเตรเลีย) ดัชีนราคาผู้บริโภค (CPI) คาดว่าจะคงที่ 0.9% แบบ QoQ
วันพุธ
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลขยอดขายปลีกพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -1.2% เป็น 3.7%
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่แล้วออกมาที่ 0.549M bbls
14:00 (สหรัฐฯ) ผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ: คาดว่าจะคงที่ 0.25%
14:20 (สหรัฐฯ) ถ้อยแถลงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลการประชุม
วันพฤหัสบดี
03:55 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะดีขึ้นจาก -10K เป็น -8K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 6.5% แบบ QoQ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 547K เป็น 560K
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -10.6% เป็น 6.0%
21:00 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 51.9 เป็น 51.7
วันศุกร์
02:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 0.3% เป็น -1.5% แบบ QoQ
05:00 (ยูโรโซน) รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI): คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 1.6% แบบ YoY
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 0.7% เป็น 0.5% แบบ MoM