จากวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ทำให้เกิดบุคคล/กลุ่มคนขึ้นมาคนหนึ่ง เขา/กลุ่มคนนั้นมีชื่อว่า “ซาโตชิ นากาโมโต้” ความไม่พอใจที่มีต่อการบริหารระบบการเงินของธนาคารกลาง ทำให้ซาโตชิคิดวิธีที่จะดึงอำนาจทางการเงินออกมาจากมือของภาครัฐ เขามีความเชื่อว่าในโลกทางการเงิน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความน่าเชื่อถือ” หากระบบการเงินมีสิ่งนี้ ไม่ว่าตัวกลางจะเป็นใคร คนก็พร้อมที่จะหันไปใช้ระบบการเงินนั้นได้
ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” ขึ้นมา บล็อกเชนคือที่สถานที่เก็บข้อมูลการทำธุรกรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต ไม่มีศูนย์กลางขอข้องมูล ทุกคนที่อยู่ในระบบจะเป็นผู้เก็บข้อมูลนั้นและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยตัวเอง หลังจากที่สร้างบล็อกเชน ซาโตชิก็ได้สร้างสกุลเงินหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวกลางการทำธุรกรรมดิจิทัล สกุลเงินนั้นมีชื่อว่า “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินแรกที่รันอยู่บนบล็อกเชน สามารถตรวจสอบได้และทำธุรกรรมระหว่างบุคคลได้
จากวันนั้นในปี 2009 จนถึงวันนี้ในปี 2021 ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สกุลเงินบิทคอยน์จากเดิมที่ต้องใช้ 10,000 บิทคอยน์ในการซื้อพิซซ่าหนึ่งถาด ปัจจุบัน 1 เหรียญของบิทคอยน์มีมูลค่าโดยประมาณอยู่ที่ $55,000 และมีเหรียญดิจิทัลอื่นๆ อยู่ในระบบรวมแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 8,888 สกุลเงิน ปัจจุบันวงการสกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่ารวมกันแล้วมากถึง $1,730,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
การใช้สกุลเงินดิจิทัลยิ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์ที่บังคับให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาชีวิตรอด ใช้ความสะดวกสบายทางเทคโนโลยีต่างๆ มาขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สามารถออกไปเจอกันได้ เมื่อมนุษยชาติได้ทำความคุ้นชินกับเทคโนโลยี พวกเขาจึงสามารถเข้าสู่โลกของคริปโตเคอเรนซี่ได้ง่ายขึ้น
จากเดิมที่เราเคยชินกับการใช้ตัวกลางการแลกเปลี่ยนอย่างวีซ่า เพย์พาล อยู่แล้ว การใช้งานสกุลเงินดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ เมื่อคนได้สัมผัสถึงประสบการณ์ทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งตัวกลางอย่างธนาคารอีกต่อไป พวกเขาจึงอยากได้สิทธิเสรีภาพทางการเงินมากขึ้นซึ่งหมายความว่าอำนาจควบคุมการเงินของภาครัฐกำลังลดถอยลง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในตอนนี้เราจึงเห็นข่าวความพยายามเข้ามาควบคุมสกุลเงินดิจิทัลจากภาครัฐมากขึ้น
รัฐบาลต่อต้านสวนทางเอกชนที่คอยสนับสนุน
ตามหลักสากลแล้ว รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดสิ่งของขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนอยากถูกต้องตามกฎหมาย (ที่พวกเขาเขียนขึ้นเอง) ซึ่งก็คือสกุลเงินปกติที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดีอย่างเช่นดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ เยน เมื่อรัฐบาลเป็นคนตราขึ้นมาเองว่าการใช้กระดาษเพื่อแลกเปลี่ยนมูลค่าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย นั่นหมายความว่าพวกเขามีอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบด้วย
แต่สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ อีเธอเรียมและสกุลเงินอื่นๆ นั้นต่างออกไป เมื่อผู้สร้างเข้าใจแล้วว่าขอเพียงทำให้ระบบและสกุลเงินมีความน่าเชื่อถือ ผู้ใช้บริการก็สามารถเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินดิจิทัลได้เมื่อพวกเขาเห็นทางเลือกที่ดีกว่าในแง่ของการรักษามูลค่า นั่นจึงทำให้สกุลเงินดิจิทัลจึงเป็นภัยคุกคามในสายตาของภาครัฐ
เมื่อไม่สามารถก้าวตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นภาครัฐออกโรงเตือนประชาชนของตนเองให้เพิ่มความระมัดระวังการใช้งานสกุลเงินดิจิทัล นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และนางสาวคริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปได้ส่งข้อความเตือนมายังประชาชนว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้ในโลกของอาชญากรรม และยังไม่มีกฎหมายรองรับ นั่นจึงนำมาซึ่งคำถามว่า
“ที่จริงแล้วภาครัฐออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วง หรือเป็นเพราะปรับตัวตามโลกไม่ทันจึงขอถ่วงเวลาสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองออกมาก่อนกันแน่?”
แต่ในขณะที่ภาครัฐเอาแต่ออกมาห้าม แต่ภาคเอกชนกลับโอบรับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บริษัทเอกชนชั้นนำกับการเปิดรับบิทคอยน์
บริษัทค้าปลีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ยอมรับบิทคอยน์ในฐานะตัวกลางการแลกเปลี่ยนแล้วยกตัวอย่างเช่นไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) โอเวอร์สต็อค (NASDAQ:OSTK) โฮม ดีปอต (NYSE:HD) อะเมซอน (NASDAQ:AMZN), สตาร์บักส์ (NASDAQ:SBUX) และล่าสุดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (NASDAQ:TSLA) ที่อนุญาตให้ใช้บิทคอยน์ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว
ในปีนี้อีลอน มัสก์ CEO ของเทสลาได้เข้าซื้อบิทคอยน์ในวงเงิน $150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สแควร์ (NYSE:SQ) บริษัทผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการชำระเงินก็ได้เข้าซื้อบิทคอยน์ภายใต้วงเงิน $50 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปลายปี 2020 และซื้ออีก $170 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 ล่าสุดแม้กระทั่งทีมเบสบอลชื่อดัง Oakland A’s ได้ประกาศว่าให้กำหนดราคาแพ็กเกจห้องชุดสุดหรูแบบเต็มฤดูกาลในมูลค่าหนึ่งบิทคอยน์หรือ $65,000 ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ หากชำระเป็นสกุลเงินดิจิทัลจะได้รับส่วนลดอีกต่างหาก ถึงกระนั้นการใช้บิทคอยน์เพื่อชำระบริการที่เป็นของฝั่งภาครัฐ อย่างเช่น ภาษี หรือบิลค่าน้ำค่าไฟต่างๆ ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับ
แม้จะฟังดูเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่เงินที่ทั้งสองบริษัทใช้นั้นยังไม่สามารถมีมูลค่ามากถึง 10% ของงบประมาณที่พวกเขามีทั้งหมด ดังนั้นต่อให้บิทคอยน์มีมูลค่าเหลือเพียงศูนย์ หุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบซึ่งการเข้าซื้อบิทคอยน์ของทั้งสองบริษัท สามารถสร้างเสียงฮือฮาได้มากกว่าการออกมาเตือนจากทางภาครัฐเสียอีก
ยิ่งได้รับการยอมรับยิ่งทำให้มูลค่าตลาดของบิทคอยน์เพิ่มสูงขึ้น
การที่บิทคอยน์กลายเป็นรางวัลของทีมเบสบอลและการที่ผู้บริโภคสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าด้วยบิทคอยน์ได้ก็น่าจะเป็นสิ่งยืนยันเพียงพอแล้วสำหรับการเติบโตของโลกสกุลเงินดิจิทัล อันที่จริง หลังจากที่บิทคอยน์สามารถขึ้นมาจนเกือบแตะ $20,000 ได้ในปี 2017 ตอนนั้นบิทคอยน์ก็ได้รับการยอมรับและมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นของตัวเอง
ที่มา: CQG
จากรูปแสดงให้เห็นว่ายิ่งบิทคอยน์เป็นที่ยอมรับมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งปรับตัวขึ้นได้มากเท่านั้น การเป็นสินทรัพย์ที่มีจำกัด ความต้องการที่เพิ่มขึ้นและการเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง นับวันก็ยิ่งทำให้ราชาสกุลเงินดิจิทัลยิ่งเติบโตมากขึ้นไปอีก
ในขั้นต่อไป แพลตฟอร์มตัวกลางการแลกเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาอย่างคอยน์เบส (Coinbase) ได้เปิด IPO ประกอบกับการมีกองทุน ETF หรือ ETN ของบิทคอยน์ขึ้นก็ยิ่งจะทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบิทคอยน์ได้ง่ายและยิ่งมีการเติบโตทางมูลค่า
หากภาครัฐคิดจะหยุดสกุลเงินดิจิทัลในตอนนี้ พวกเขาก็คงต้องลงมืออย่างจริงแล้ว เพราะยิ่งมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินปกติมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งเห็นความเหลวแหลกของระบบและการควบคุมของธนาคารกลางในปัจจุบันและหันไปหาบิทคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ มากขึ้น ภาครัฐอาจคิดว่าเพียงแค่หยุดแพลตฟอร์มตัวกลางแลกเหรียญได้ก็จะจบ แต่ที่จริงแล้วสาเหตุที่โลกของสกุลเงินดิจิทัลเติบโตขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะความรู้ของผู้คนในปัจจุบันมีมากเพียงพอจนไม่รู้สึกว่าต้องการตัวกลางอย่างธนาคารอีกต่อไป
นี่คือช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติของเสรีภาพทางการเงินอย่างแท้จริง....