สถานการณ์ในตลาดลงทุนเมื่อวันศุกร์ที่แล้วได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่องโยงระหว่างตลาดหุ้นและผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างชัดเจน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวลงเป็นวันที่สอง ส่งผลให้สัปดาห์ที่แล้วกลายเป็นสัปดาห์ที่สองที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดติดลบ ดัชนีแนสแด็ก 100 สามารถขึ้นได้เพียง 0.6% ในขณะที่รัสเซล 2000 สามารถปิดบวกได้เพียง 0.3% เท่านั้น
ตอนนี้เรามาถึงจุดที่ตลาดส่งสัญญาณไม่ชัดเจนออกมา หุ้นกลุ่มเทคฯ ที่เคยทำผลงานได้ดีในช่วงโควิดและล็อกดาวน์กลับปรับตัวลดลง และหุ้นที่เคยทำผลงานได้แย่ในช่วงโควิดกลายเป็นว่ากำลังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่ปรากฎการณ์ที่คนให้ความสนใจและเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่นักลงทุนคือขาขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่สามารถวิ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุด 1.6% เพราะความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นมาเร็วเกินไปจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบออกมาตรการหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์บางคนให้ข้อมูลว่าปัจจัยที่สนับสนุนขาขึ้นในผลตอบแทนพันธบัตรฯ ในช่วงสองสัปดาห์ล่าสุดกับสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้นไม่เหมือนกัน ขาขึ้นในสองสัปดาห์ก่อนหน้าเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ แต่ขาขึ้นในสองสัปดาห์ล่าสุดกลับเกิดจากความกังวลว่าเฟดจะรีบหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองเร็วเกินไป
จากรูปจะเห็นว่ากราฟดัชนีแนสแด็ก 100 กำลังพยายามอย่างหนักที่จะยืนเหนือจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมให้ได้ แม้จะพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่สถานการณ์ของแนสแด็ก 100 ก็ยังเสี่ยงที่จะวิ่งลงต่อเพราะต้องมีนักลงทุนบางส่วนเชื่อในการฟอร์มตัวเป็นรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เชื้อเชิญนักลงทุนฝั่งตลาดหมี
อีกหนึ่งสาเหตุที่ว่าทำไมแนสแด็ก 100 ยังสามารถยืนเหนือจุดต่ำสุดเดือนมกราคมได้เพราะหุ้นเทคโนโลยีชื่อดังอย่างเช่นไมโครซอฟต์ (NASDAQ:MSFT) และอะเมซอน (NASDAQ:AMZN) พากันปรับตัวขึ้น 1.5% และ 1.2% ตามลำดับ ในขณะที่ดาวโจนส์ปรับตัวลงเพราะหุ้นในกลุ่มพลังงานและธนาคารทำผลงานได้ไม่ดี
แถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ ทำให้นักลงทุนยิ่งเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ แถลงการณ์ของเขาต่อสภาคองเกรสแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นเหลือเกินว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตอนนี้อยู่ในจุดที่เฟดสามารถควบคุมได้ ความกลัวนี้คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นในขณะนี้ด้วย
ประธานเฟดให้เหตุผลอยู่สองประการว่าทำไมเขาจึงไม่คิดที่จะแตะเบรก QE ในตอนนี้ เหตุผลแรกคือการที่อัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่เกือบ 0% ทำให้ตลาดหุ้นเติบโตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การลงทุน ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการหยุดการเติบโตนั้น ส่วนเหตุผลข้อที่สองนั้นคือเฟดยังมองว่าตัวเลขการจ้างงานที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมานั้นยังช้าเกินไป และยังไม่ได้กลับมาอยู่ในช่วงเดียวกับก่อนโควิดระบาด
คำถามที่นักลงทุนต้องถามตัวเองดีๆ ในตอนนี้คือ ณ จุดไหนกันแน่ที่ข่าวดีจะกลายเป็นข่าวร้ายในตลาด อย่างที่เราได้เห็นไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่แล้วว่าตลาดหุ้นกลับดีใจที่ได้เห็นตัวเลขการจ้างงานในเดือนมกราคมออกมาน่าผิดหวัง พวกเขากลับต้องการอยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐแม้ว่าเงินกระตุ้นนั้นจะยิ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับปัญหาเงินเฟ้อ
นักวิเคราะห์บางคนมองว่าที่จริงแล้วเฟดก็มีความคิดที่อยากจะหยุดการทำ QE เหมือนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพียงแต่ว่าเฟดนั้นค่อนข้างยึดติดกับอัตราการจ้างงานมากเกินไป ดังนั้นแล้วถ้าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของเดือนกุมภาพันธ์ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ดีขึ้นเมื่อเทียบจากตัวเลขของเดือนมกราคม เฟดอาจเริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไปและอาจะมีเซอร์ไพรส์ภายในช่วงกลางปีนี้ถ้าตัวเลข NFP ยังสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าคงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างแน่นอน
หลังจากขึ้นไปแตะ 1.6% ได้แล้ว กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีก็ได้ปรับตัวลดลง แต่กราฟก็ยังสามารถวิ่งอยู่ภายในกรอบราคาขาขึ้นได้โดยมีแนวรับอยู่ที่โซนสีเหลืองที่ประมาณ 1.35%
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้น 0.83% เมื่อวันศุกร์ที่แล้วเนื่องจากนักลงทุนกำลังอยู่ในภาวะวิตกจากขาขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรและขาลงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสินค้าโภคภัณฑ์
ขาขึ้นของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวกราฟน่าจะไม่มีโอกาสกลับลงไปอยู่ในรูปแบบลิ่มลู่ลงอีก นอกจากนี้ขาขึ้นดังกล่าวยังสามารถยืนเหนือเส้น neckline ของรูปแบบหัวไหล่และเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้อีกด้วย สัปดาห์นี้กราฟดัชนีดอลลาร์ต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งขาขึ้นด้วยการขึ้นยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันไปให้ได้
เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า สินทรัพย์สำรองปลอดภัยอย่างทองคำซึ่งเป็นปรปักษ์กับดอลลาร์ก็ต้องมีมูลค่าลดลง ไม่ใช่แค่เฉพาะทองคำเท่านั้น แต่สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อย่าง โลหะเงิน บิทคอยน์และแพลตินัมต่างก็อยู่ในแนวโน้มขาลงด้วยเช่นกัน
จากรูปจะเห็นว่าราคาทองคำร่วงลงจากแนวรับของจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนได้เป็นที่เรียบร้อย ดับฝันขาขึ้นจากรูปแบบหัวไหล่อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้แล้วเส้นค่าเฉลี่ยของทองคำก็ได้เรียงตัวกันอยู่ในขาลงเรียบร้อยโดยที่เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น 100 วันวิ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว 200 วัน
แม้ว่าราคาของโลหะเงินจะปรับตัวลดลงก็จริง แต่อย่างน้อยราคาก็ยังสามารถทรงตัวอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้
กราฟโลหะเงินตอนนี้วิ่งอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมที่มีฐานยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ราคายังไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ตามทฤษฎีแล้วการฟอร์มตัวในรูปแบบนี้เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนฝั่งขาขึ้น ตอนนี้กราฟมีแนวต้านอยู่ที่ $30 หากว่าโลหะเงินสามารถขึ้นยืนเหนือระดับราคาดังกล่าวได้ จะเป็นการส่งสัญญาณไปต่อของราคา
กราฟบิทคอยน์แม้จะปรับตัวลดลงเป็นวันที่สามติดต่อกันก็จริง แต่ในทุกๆ วันที่ราคาวิ่งลงมากลับมีความรุนแรงลดลง เป็นไปได้ว่าการเทขายบิทคอยน์อาจชะลอลงในเร็ววันนี้ จากการลากกรอบราคาจะเห็นว่ามีโอกาสที่บิทคอยน์จะลงมายังแนวรับที่ $40,000
กราฟแท่งเทียนของน้ำมันดิบ WTI ล่าสุดเกิดรูปแบบดาวตก (Evening Star) ขึ้น
รูปแบบนี้โดยปกติเป็นการบ่งบอกว่าตลาดได้วิ่งขึ้นมาทำจุดสูงสุดแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ตลาดหมีจะกลับมาควบคุมตลาดซึ่งก็สอดคล้องกับอินดิเคเตอร์ RSI ที่ส่งสัญญาณไดเวอร์เจนต์สำหรับขาลงออกมาแล้ว
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันอาทิตย์
02:00 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 51.3
20:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะคงที่ 51.5
วันจันทร์
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 60.6
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 54.9
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 58.7 เป็น 58.8
22:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางออสเตรเลีย: คาดว่าจะคงที่ 0.10%
วันอังคาร
03:55 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขการว่างงาน: คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นจาก -41K เป็น -15K
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.9% เป็น 1.0%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบ MoM จะลดลงจาก 0.7% เป็น 0.3%
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 3.3% เป็น 2.5%
วันพุธ
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคบริการ: คาดว่าจะคงที่ 49.7
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP: คาดว่าจะลดลงจาก 174K เป็น 168K
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะคงที่ 58.7
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะลดลงจาก 1.285M เป็น -5.190M
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะคงที่ 0.6%
วันพฤหัสบดี
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้าง: คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก 49.2 เป็น 51.5
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 730K เป็น 775K
วันศุกร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก 49K เป็น 165K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะคงที่ 6.3%
14:00 (แคนาดา) รายงานตัวเลขดุลบัญชีการค้า: คาดว่าจะปรับตัวขึ้นจาก -1.67B เป็น -1.30B