ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาจากวันจันทร์แต่ตลาดฟอเร็กซ์กลับไม่มีความเคลื่อนไหวนอกจากการพักตัวเพราะนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในตอนนี้ที่ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่น่าเป็นห่วงก็คือแม้แต่นายมิตต์ แมคคอนเนล ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในสภาสูงยังกล่าวว่าทรัมป์มีสิทธิ์ที่จะทำอย่างที่เขาต้องการ นักลงทุนบางคนเป็นกังวลไปไกลถึงปี 2024 ว่าหากทรัมป์ยังสามารถกลับมาเป็นประธานาธิบดีในปีนั้นได้อีกจะเป็นอย่างไร นี่คือหลักฐานยืนยันว่ายังมีคนเข้าข้างและเชื่อในทรัมป์อยู่เป็นจำนวนมากและเขาคงไม่ยอมยกทำเนียบขาวให้กับไบเดนได้โดยง่ายก่อนวันที่ 20 มกราคมแน่นอน
นอกจากนี้ สิ่งที่นักลงทุนฟอเร็กซ์เป็นกังวลก็คือความพยายามของทรัมป์ที่จะให้รัฐมิชิแกนและเพนซิเวเนียนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ สมมุติว่าหากคำขอของเขาได้รับการตอบรับและเกิดการนับคะแนนขึ้นใหม่จนนำไปสู่ชัยชนะของทรัมป์ ภาพของความไม่แน่นอนและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจะกลับมาอีกครั้ง นักวิเคราะห์ที่เป็นเพื่อนร่วมงานของดิฉันนาย Boris Schlossberg กล่าวถึงการกระทำของทรัมป์ในช่วงนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สิ่งที่นักลงทุนในตลาดกลัวตอนนี้ไม่ใช่เพียงความไม่แน่นอนในตลาดเท่านั้น แต่การกระทำที่ไม่ยอมรับต่อความพ่ายแพ้อย่างที่ประธานาธิบดีคนอื่นในอดีตเคยทำมากำลังสร้างภาพของความแตกแยก การไม่ยอมรับในกติกาและการทำลายภาพของการเป็นแม่แบบแห่งระบอบประชาธิปไตย อาจไม่ต้องไปถึงการนับคะแนนใหม่ของมิชิแกนหรือเพนซิเวเนีย แค่เพียงศาลในรัฐนั้นๆ รับฟ้องและเริ่มนับคะแนนใหม่นักลงทุนก็พร้อมที่จะหลีกหนีความเสี่ยงแล้ว นี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งอเมริกาที่การถ่ายโอนอำนาจไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยสันติ”
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นตามกราฟผลตอบแทนพันธบัตรฯ และตลาดหุ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแถลงการณ์ของผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งรัฐดัลลัสนายโรเบิร์ต เคปแลนที่แสดงความเป็นกังวลว่าอาจจะต้องเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้งและคิดว่ากว่าจะถึงระยะเวลาที่ได้เริ่มฟื้นตัวจริงๆ อาจต้องรอไปจนถึงช่วงปลายปี 2021 นายอิริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางบอสตันมีความเห็นว่ายังไงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สอง ไม่แปลกใจที่จะได้เห็นสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงความเป็นกังวลออกมาเช่นนี้เพราะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคระบาดหลายคนเริ่มวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่มีสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คนต่อวันได้ จนถึงตอนนี้ผู้ว่าการรัฐบางแห่งยังคงลังเลที่จะตัดสินใจปราบปรามโควิดอย่างจริงจังและหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเราก็จะกลับไปเห็นภาพของโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ อนึ่งแม้วันนี้จะเป็นวันทหารผ่านศึกและไม่มีรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเปิดทำการตามปกติ
การที่ดอลลาร์สหรัฐไม่แข็งค่าขึ้นช่วยให้สกุลเงินยูโรยังทรงตัวไม่ถล่มลงมาเพราะนักลงทุนเสียความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเรื่องโควิดในยูโรโซนได้ ผลของการแพร่ระบาดรอบที่สองได้แสดงผลออกมาให้เห็นแล้วเมื่อวานนี้ผ่านรายงานตัวเลขจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ในเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวอย่างรุนแรงจาก 56.1 เหลือ 39 นี่คือตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่ายุโรปกำลังกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งที่สอง เชื่อว่าหลังจากตัวเลขชุดนี้ เราจะได้เห็นข้อมูลตัวเลขของฝั่งยูโรโซนหดตัวต่อเนื่องและเราก็ยังยืนยันว่ากราฟ EUR/USD มีโอกาสลงมายัง 1.16 มากกว่าสจะขึ้นไปยัง 1.20
สกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อวานนี้คือสกุลเงินปอนด์ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมจะออกมาไม่ดีเช่น อัตราการจ้างงานลดลง ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น รายงานจำนวนคนว่างงานที่ใช้สิทธิประโยชน์จากการว่างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.5% เป็น 4.8% แต่เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ปอนด์ยืนอยู่ได้เมื่อวานนี้คือการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและกราฟ EUR/GBP ปรับตัวลดลง
สกุลเงินที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักทั้งสามอย่างดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์เมื่อวานนี้ค่อนข้างเงียบเหงา นิวซีแลนด์ยังคงมีความสุขกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังเพราะไม่ต้องมากังวลเรื่องโควิด-19 และนั่นทำให้การประชุมของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) เมื่อเช้านี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินใดๆ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 0.25% RBNZ ยืนยันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 16 เดือนมีนาคมได้