สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการประชุมธนาคารกลางทุกแห่งล้วนคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฟดได้ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไปอีก 3 ปี
ติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป โดยภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะช่วยให้ตลาดยังสามารถอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้
ทั้งนี้ควรระวังปัญหา Brexit และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจกดดันให้ตลาดลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และในกรณีที่สินทรัพย์ฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวน (CNY) เผชิญแรงเทขาย ก็อาจกดดันให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆ อาทิ เงินบาทอ่อนค่าตามไปได้
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.90-31.40 บาท/ดอลลาร์
มุมมองนโยบายการเงิน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ในวันพุธ ตลาดคาดว่า RBNZ จะ“คง”อัตราดอกเบี้ย (Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.25% ทั้งนี้ตลาดจะจับตาการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ เราคาดว่า กนง. จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 0.50% แต่เราคาดว่า กนง. ภายใต้ผู้ว่า ธปท. คนใหม่อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ (Unconventional tools) เช่น การทำ Debt Monetization อย่างที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียทำ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ยังมีความจำป็นเพื่อช่วยการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคาดว่าภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อ หนุนโดยการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนกันยายนที่ระดับ 53.3จุด และ 54.5จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50จุด หมายถึง การขยายตัว)
ฝั่งยุโรป – ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี(IFO Business Climate) ในเดือนกันยายนอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 93.8จุด จาก 92.6จุด สอดคล้องกับภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ เดือนกันยายนที่ระดับ 51.9จุด และ 50.5จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ตลาดจะยังคงติดตามการเจรจาข้อตกลง Brexit ระหว่าง EU กับ รัฐบาลอังกฤษอย่างใกล้ชิด
ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่าในระยะสั้นธนาคารกลางจีน (PBOC) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 1ปีและ5ปี (Loan Prime Rate: LPR) ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% หลังเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี PBOC อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ย LPR ลงหากการฟื้นตัวเศรษฐกิจชะงักลงจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออก (Exports) ในเดือนสิงหาคมจะยังคงหดตัวอย่างน้อย 14% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ยอดนำเข้า (Imports) อาจหดตัวราว 21% ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลอยู่และหนุนการแข็งค่าของเงินบาทต่อ