ถือเป็นวันที่ 8 แล้วที่สกุลเงินยูโรสามารถปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นการสร้างสถิติขาขึ้นที่ยาวที่สุดของคู่สกุลเงินนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2011 ขาขึ้นที่ทำให้เทรดเดอร์ต่างมีความสุขกันทั่วหน้ามีสาเหตุมาจากความคาดหวังของนักลงทุนที่ได้รับการตอบสนองอย่างดีเกินคาดจากธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ที่เพิ่มวงเงินการซื้อพันธบัตรและยังเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด (PEPP) เป็นเงินจำนวน 6 แสนล้านยูโรซึ่งตัวเลขนี้สูงขึ้นจากที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 5 แสนล้านยูโร นอกจากนี้ ECB ยังยืดระยะเวลาการซื้อสินทรัพย์ออกไปอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายนปี 2021 ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปให้เหตุผลว่าที่ต้องเพิ่มวงเงินจนสูงกว่าที่คาดการณ์เป็นเพราะมาตรการที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ยังไม่เห็นผลชัดเจนมากเท่าไหร่และการจัดการกับผลกระทบโควิด-19 จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
การดำเนินการของ ECB ครั้งนี้ถือว่าถูกใจนักลงทุนในตลาดเป็นอย่างมากเพราะ ECB กล้าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตรงๆ โดยไม่พึ่งพาวิธีการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ที่สำคัญยังมีใช้แผนอุ้มพันธบัตรรัฐบาลอย่างดุดันและเอาจริง แต่ถึงอย่างนั้น ECB ก็ได้ปรับลดมุมมองคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของตัวเองลงแต่ไม่ได้ลงมากถึงขนาดที่ตลาดต้องรู้สึกกังวลโดย ECB มองว่าเศรษฐกิจในปี 2020 จะหดตัวอยู่ที่ 8.7% และจะฟื้นคืนกลับมาได้ 5.2% ในปี 2021
ตามความเห็นของ ECB เชื่อว่าข้อมูลตัวเลขในไตรมาสที่ 2 นี้จะยังจะออกมาไม่ดีขึ้นและเราจะได้เห็นการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หากว่าจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วในเดือนพฤษภาคมจริง ECB มองว่าในไตรมาสที่ 3 ทุกอย่างจะเริ่มฟื้นกลับมาได้แต่ไม่ได้เร็วขนาด V-Shape สิ่งที่เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้จริงๆ คือการที่ ECB บอกว่าพร้อมที่จะทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำอีกหากว่าเกิดเหตุไม่คาดฝันในอนาคตซึ่ง 6 แสนล้านยูโรที่ ECB ให้มาเมื่อวานนี้ตลาดก็ดีใจจนไม่รู้จะดีใจอย่างไรแล้วถึงขนาดพากราฟ EUR/USD ขึ้นไปยัง 1.13 ได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงจนเราต้องปรับแนวต้านสำคัญใหม่เอาไว้ที่ 1.15
แม้นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นในขาขึ้นของยูโรตอนนี้มากแค่ไหนแต่วันนี้นักลงทุนก็จำเป็นที่จะต้องจับตาดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรหรือ “นอนฟาร์ม (NFP)” ของสหรัฐฯ กราฟ USD/JPY วิ่งขึ้นล่วงหน้าไปก่อนแล้วเมื่อกราฟพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 11% เป็นสัญญาณบอกเป็นนัยว่านักลงทุนที่อยู่ฝั่งสกุลเงินดอลลาร์เชื่อมั่นในตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ วันนี้มาก นักเศรษฐศาสตร์มองว่าตัวเลขการจ้างงานฯ ในวันนี้จะลดลงเพียง 7.5 ล้านตำแหน่งเท่านั้น จริงอยู่ว่าตัวเลขการจ้างงานที่ลดลง 7.5 ล้านตำแหน่งยังไม่ใช่ตัวเลขที่ดีแต่ตัวเลขคาดการณ์นี้ก็ถือว่าดีกว่าของเดือนที่แล้วที่มีตัวเลขลดลงมากกว่า 20 ล้านตำแหน่ง จาก 20 ล้านลดลงเหลือ 7.5 ล้านถือเป็นการลดอย่างมีนัยสำคัญมากแล้ว ถึงจะชื่นใจได้บ้างแต่ข่าวร้ายก็คือนักเศรษฐศาสตร์มองว่าอัตราการว่างงานจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นจาก 14.7% เป็น 19.2% และอัตราการเติบโตของค่าจ้างจะลดลงจาก 4.7% เหลือ 1% แม้การเปิดเมืองจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาได้บ้างแต่กว่าผู้คนจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับ new normal ได้จนสามารถปรับอัตราการว่างงานให้ลดลงยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
จากการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ ข้อมูลและปัจจัยบ่งชี้ความเป็นไปได้ของตัวเลขนอนฟาร์มในครั้งนี้เท่าที่เรามีพบว่าแม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควรซึ่งหมายความว่า “รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จะออกในวันนี้อาจจะดีขึ้นแต่อาจจะไม่ถึงเป้าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์” ในช่วง 3-4 สัปดาห์ล่าสุดเราจะเห็นได้ว่าตลาดทำเหมือนหลับหูหลับตาพาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ปรับตัวสูงขึ้นไปโดยที่พยายามจะไม่สนใจข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาติดลบแต่เลือกที่จะเชื่อในพลังของการกลับมาเปิดเมืองเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ที่ช่วงครึ่งปีหลังจะได้เห็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า คำถามสำคัญก็คือ “ถ้าวันนี้ตัวเลขนอนฟาร์มออกมาแล้วขึ้นไม่ถึงตัวเลขคาดการณ์ ขาขึ้นที่เห็นจะยังคงเป็นขาขึ้นได้ดังเดิมอีกหรือไม่?”
ถ้าวันนี้ตัวเลขอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นและการจ้างงานชะลอตามที่คิดเอาไว้จนส่งผลให้ตัวเลขนอนฟาร์มพลาดเป้าคาดการณ์จริง กราฟ EUR/USD จะยิ่งได้โอกาสทะยานสูงขึ้นไปอีก ตัวเลข 19% ของอัตราการว่างงานไม่ใช่ตัวเลขที่พึงประสงค์ ในทางกลับกันถ้าตัวเลขนอนฟาร์มออกมาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้กราฟ EUR/USD จะเข้าสู่การปรับฐานหลังจากที่วิ่งขึ้นมาอย่างยาวนาน
เหตุผลสนับสนุนว่าตัวเลข NFP ในวันนี้จะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์
1.) ตัวเลขการจ้างงานจากดัชนี PMI ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตโดย ISM เพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 31.8
2.) ตัวเลขการจ้างงานจากดัชนี PMI ภาคการผลิตโดย ISM เพิ่มขึ้นจาก 27.5 เป็น 32.1
3.) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP (NASDAQ:ADP) ดีขึ้นจากติดลบ 19.55 ล้านตำแหน่งเหลือติดลบ 2.7 ล้านตำแหน่ง
4.) ค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ล่าสุดดีขึ้นจาก 4.18 ล้านคนเหลือ 2.28 ล้านคน
5.) รายงานดัชนีขอรับสวัสดิการการว่างงานลดลงจาก 22.37 ล้านคนเหลือ 21.48 ล้านคน
6.) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก 85.7 เป็น 86.6
7.) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นจาก 71.8 เป็น 72.3
8.) รายงานจำนวนคนตกงานจาก Challenger ลดลงจาก 1,576% เหลือ 577.8%
เหตุผลคัดค้านว่าตัวเลข NFP ในวันนี้จะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์
ไม่มี
กราฟ USD/CAD วิ่งอยู่ที่บริเวณจุดต่ำสุดของราคาในรอบ 3 เดือนก่อนที่กราฟจะได้ทราบตัวเลขการจ้างงาน ครั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่าอัตราการว่างงานของแคนาดาจะลดลงเหมือนของสหรัฐฯ นอกจากนี้ธนาคารกลางแห่งแคนาดา (BoC) ก่อนหน้านี้มองภาพรวมเศรษฐกิจของแคนาดาดีขึ้นและพฤติกรรมราคาของกราฟ USD/CAD แสดงให้เห็นว่านักลงทุนกำลังเชื่อมั่นที่จะได้เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจของแคนาดาดีขึ้น สรุปก็คือตอนนี้กราฟ USD/CAD อยู่ในโซนของ oversold มานานพอแล้วและถ้าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในวันนี้ออกมาดีขึ้น นักลงทุนในตลาดกระทิงก็พร้อมที่จะพุ่งเข้าหากราฟ USD/CAD