ช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวแต่ตลาดก็เลือกลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่เชื่อว่าได้รับผลกระทบไม่มากบนการชะลอตัวของเศรษฐกิจดัชนีห S&P 500 จึงปรับตัวขึ้นต่อ 1.69% พร้อมกับ Euro Stoxx 50 ที่ปิดตัวบวก 0.95%
อย่างไรก็ดีสินทรัพย์อื่นๆ ดูจะยังไม่เปิดรับความเสี่ยงไปพร้อมกัน สังเกตได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ที่ทรงตัวแถวระดับ 0.69% ยีลด์เยอรมันลดลงแตะระดับ -0.53% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับตัวลง 1.2% มาอยู่ที่ 30.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ชี้ว่าตลาดไม่รีบร้อนที่จะกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง (Liquidate Risk-free asset) หรือสินทรัพย์ในกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ก่อนช่วงกลับมาเปิดทำการของเศรษฐกิจ (Reopening)
สำหรับสัปดาห์นี้ฝั่งเศรษฐกิจน่าจะเห็นแนวโน้มที่ "แย่น้อยลง" เช่นรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่(Initial Jobless Claims) ในวันพฤหัสที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเพียง 2.5 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ในวันศุกร์ก็จะมีการรายงานตัวเลขค้าปลีก (US Retail Sales) ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 11% ในช่วงเดือนเมษายนเทียบกับเดือนมีนาคม ส่วนในฝั่งจีนวันศุกร์นี้ก็จะมีการรายงานตัวเลขการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และค้าปลีกเช่นกันคาดว่าทั้งหมดจะหดตัว 10.0% 1.0% และ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงสี่เดือนแรกของปีก่อนตามลำดับ
ส่วนของเงินบาท ระยะสั้นดูจะสามารถแข็งค่าได้ในช่วงที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรทองคำและการตัดขาดทุนของนักเก็งกำไรในตลาดเงิน สำหรับสัปดาห์นี้ จุดที่ต้องจับตาคือทิศทางของนโยบายต่างประเทศสหรัฐซึ่งกลับมาแข็งข้อกับจีน อาจทำให้เกิดความกังวลเรื่องสงครามการค้าครั้งใหม่ หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่ากลับมาได้ ขณะเดียวกันภาพการค้าที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทไม่ได้แข็งค่าเร็วนัก
กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 32.10-32.60 บาทต่อดอลลาร์ USD/THB
ดูอัตราแลกเปลี่ยน