ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงเป็นวันแรกช่วงสัปดาห์ นำโดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.7% เช่นเดียวกับหุ้นยุโรปที่ Euro Stoxx 600 ปรับตัวลง 0.3%
ส่วนในฝั่งเศรษฐกิจ ตัวเลขที่น่าสนใจคือการจ้างงานภาคเอกชนในสหรัฐ (ADP) ที่ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติกาลที่ 20.2 ล้าน ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี ภาพคนตกงานในเดือนที่ผ่านมาอาจไม่ได้ให้แนวโน้มในอนาคตมากนัก ในวันนี้จึงต้องจับตาตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) ว่าจะยังเพิ่มขึ้นในระดับสูงกว่า 3 ล้านตำแหน่งตามที่ตลาดมองไว้หรือไม่
ซึ่งถ้าผู้ขอรับสวัสดิการยังอยู่ในระบสูง อาจเป็นการเตือนว่าต้องระมัดระวังความเสี่ยงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะประชาชนดูจะไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติหลัง ประกาศยกเลิกนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมบ้างแล้ว
ส่วนในฝั่งของตลาดตราสารหนี้ ก็มีความน่าสนใจเมื่อบอนด์ยีลด์ของแทบทุกประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยยีลด์สหรัฐอายุ10ปีขยับขึ้น 4bps แตะระดับ 0.71% พร้อมกับยีลด์เยอรมันและอิตาลี ที่ปรับตัวขึ้น 7-10bps จนล่าสุดแตะระดับ -0.51% และ 1.97% ตามลำดับ ซึ่งเรามองว่าการปรับตัวขึ้นครั้งนี้มาจากหลากหลายเหตุผล ทั้งเรื่องของการเมืองที่ซับซ้อนในยุโรป ผลกระทบจากนโยบายการคลังสหรัฐ ขณะเดียวกันก็มีภาพการเปิดเมืองและราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวเข้ามาสนับสนุน
ในระยะถัดไปเชื่อว่าตลาดจะกังวลกับการเมืองในยุโรปและความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของประเทศในฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) มากที่สุด ซึ่งจะถ่วงดุลให้เงินทุนในฝั่งสหรัฐไม่เคลื่อนย้ายออกนอกประเทศเร็ว
โดยรวมภาพตลาดทั้งหมดเป็นบวกกับเงินดอลลาร์ชัดเจน ส่งผลให้ ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักราว 0.4% อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวดูจะยังไม่กระทบกับสกุลเงินเอเชียในช่วงสองถึงสามวันนี้มากนัก เงินบาทจึงยังคงซื้อขายในกรอบแคบ และเชื่อว่าน่าจะเคลื่อนไหวในระดับปัจจุบันไปก่อนจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐในช่วงคืนวันศุกร์