ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังสามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือ $20 ต่อบาร์เรลได้ในช่วงตลาดลงทุนสิงคโปร์เปิดแม้ว่าก่อนหน้านี้ราคาจะลงไปสร้างจุดต่ำสุดไว้ที่ $19.92 ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2002 แต่ผมเชื่อว่าเมื่อผ่านช่วงเวลาตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดเมื่อคืนราคาน้ำมันดิบจะลงไปอยู่ต่ำกว่า $20 อีกครั้ง
ไม่ว่าสัปดาห์นี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ผมเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะยังคงลงไปอยู่ต่ำกว่า $20 ต่อบาร์เรลอยู่ดี ถ้าราคาสามารถหลุดแนวรับเดือนกุมภาพันธ์ปี 2002 ลงมาได้ ($19.09) แนบรับถัดไปที่ราคาจะต้องทดสอบจะอยู่ที่ $17.85 (มกราคม 2002), $17.80 (ธันวาคม 2001) และ $16.70 (พฤศจิกายน 2001)
อย่างไรก็ตามในบทความนี้เราจะไม่ได้มาเขียนเกี่ยวกับว่าราคาน้ำมันจะสามารถลงไปได้ถึงไหนจากจุดนี้แต่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความหายนะที่อาจทำลายล้างระบบราคาหินน้ำมันในสหรัฐที่ตอนนี้กำลังเจ็บหนักสุดๆ เมื่อราคาน้ำมันดิบลงมาอยู่ต่ำกว่า $35 ต่อบาร์เรล ถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาดูอย่างยิ่งไม่แพ้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐอเมริกาเลย
ความหายนะกำลังรอวงการหินน้ำมันสหรัฐฯ อยู่
ประโยคสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ตอนนี้สามารถเขียนได้ว่า “ไม่ว่าสหรัฐฯ จะใช้วิธีลดรายจ่ายเพื่อการได้มาของสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเพื่อหารายได้ (CAPEX) ลดงบประมาณการค้นหาแหล่งผลิตน้ำมัน ลดกำลังการผลิตหรือแม้กระทั่งรัฐบาลของทรัมป์เข้ามาแทรกแซงด้วยตนเองเลยก็ตาม ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันดิบท้องถิ่นของสหรัฐฯ 30% จะต้องล้มหายตายจากวงการนี้ไปอย่างไม่สามารถทำอะไรได้”
ทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียซึ่งถือเป็น 2 ประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันสูงที่สุดในโลกยังคงไม่ยอมลดลาวาศอกให้แก่กัน แม้จะต้องเผชิญไวรัสโคโรนาเหมือนกันแต่ทั้งคู่ก็ยังตั้งใจที่จะทำสงครามราคาน้ำมันนี้ยาวไปอีก 6 เดือนเพื่แย่งตลาดผู้ต้องการน้ำมันในโลกมาให้ได้มากที่สุด
หนึ่งในวิธีที่สามารถทำลายคู่ต่อสู้ได้คือถ้าซาอุฯ กับรัสเซียยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเป็นการทำลายวงจรการผลิตและค้าขายหินน้ำมันของสหรัฐฯ โดยสมบูรณ์ ปัจจุบันสหรัฐฯ สามารถผลิตน้ำมันได้ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและการเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกด้วยสถิติผลิตน้ำมันได้สูงสุดถึง 13 ล้านบาร์เรลต่อวันในขณะที่โอเปกและประเทศพันธมิตรเคยทำได้เพียงจับมือกันเพื่อคานราคาน้ำมันของสหรัฐฯ เอาไว้
ข้อมูลจากสถาบันปิโตเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (API) เผยว่านอกจากจะส่งไปขายในต่างแดนไม่ได้แล้วในตอนนี้อุตสาหกรรมน้ำมันดิบสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเพราะต้องรองรับคนตกงานที่เพิ่มขึ้นถึง 10.9 ล้านคน หินน้ำมันของสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดมาจากวิธีขุดน้่ำมันธรรมดาอย่างที่ซาอุดิฯ และรัสเซียทำ พวกเขาจำเป็นต้องแบกต้นทุนที่สูงกว่าและเผชิญหน้ากับปัญหาบริษัทล้มละลาย เรียกว่ารับศึกสองด้านทั้งโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันดิบ นักวิเคราะห์มองว่าทุกวันนี้ปริมาณความต้องการในตลาดราคาน้ำมันสหรัฐฯ ลดลงอย่างน้อย 10% หรือ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่า “ความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ทุกวันนี้กับปี 2015 และ 2016 คือความต้องการน้ำมันในตลาดหายไปและเมื่อสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ตัวเองได้สิ่งที่ตัวเองไม่มี ดังนั้นผลตอบแทนจากความหัวหมอนั้นจึงสูงกว่าประเทศอื่น”
ธนาคารวอลล์สตรีทยังกล่าวเสริมอีกว่า “อันที่จริงแล้ววิกฤตไวรัสโคโรนาแค่ทำให้แผลของสหรัฐฯ ที่เปิดอยู่แล้วขยายกว้างขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยเท่านั้น แต่เพียงคำว่าเล็กน้อยของสหรัฐฯ สามารถทำลายอุตสาหกรรมนี้ได้เลยหากว่าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป”
ซาอุดิอาระเบียทำให้สถานการณ์แย่ลง
EIA เผยว่า “ความจงใจของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการขุดน้ำมันออกจาจนล้นตลาดนอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ของโอเปกและกลุ่มพันธมิตรแย่ลงแล้ว ยังทำให้สถานการณ์โลกแย่ลงไปกว่าเดิมอีกด้วย สาเหตุที่ทรัมป์ถึงกับต้องยกสายโทรไปหาซาอุดิอาระเบียเพื่อขาให้ยุติความขัดแย้งกับรัสเซียแล้วหันมาช่วยโลกก่อนเพราะเขารู้ดีว่าวงการหินน้ำมันสหรัฐฯ ไม่อาจจะทนอยู่ได้นาน”
สถาบันที่ทำวิจัยทางด้านพลังงานในมหานครนิวยอร์กกล่าวว่า “ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเราจะได้เห็นภาพสหรัฐฯ ต้องการจับมือกับโอเปก ถ้าทั้งสามประเทศสามารถตกลงควบคุมราคาน้ำมันดิบโลกได้คงจะเป็นอะไรที่น่าสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว”
ไม่ว่าสหรัฐจะเล่นบทเป็นคุณพ่อใจร้ายที่จำเป็นต้องสั่งให้อุตสาหกรรมขุดน้ำมันในรัฐเท็กซัสลดการผลิตลงหรือรับบทเป็นพ่อพระผู้ใกล้เคลี่ยความสงบสุขของโลกระหว่างซาอะดิอาระเบียกับรัสเซียให้กลับมาจับมือกันอีกครั้ง สหรัฐก็ยังถือว่าเป็นผู้ที่เจ็บหนักที่สุดและยังต้องพยายามมากที่สุดอยู่ดี
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ นาย Dan Brouillette กล่าวว่า “ไม่ว่าจะมองไปในทิศทางไหน สถานการณ์น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในตอนนี้ก็จำเป็นต้องมีพรรคมีพวกเอาไว้ก่อนเพื่อให้ประเทศของเรายังสามารถทำธุรกิจส่งออกน้ำมันได้ต่อไป”
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับความพยายามของทรัมป์ที่พยายามคุยกับทั้งซาอุดิอาระเบียและรัสเซียเลย ซาอุดิฯ ยังคงยืนกรานที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของตนอีก 30% ในเดือนนี้เพื่อให้มีตัวเลขการผลิตอยู่ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในก่อนสิ้นเดือนเมษายน
ไม่มีใครทั้งนั้นที่ได้ชัยชนะจากการทำสงครามราคาน้ำมันดิบครั้งนี้
ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้นที่เจ็บตัวจากการทำสงครามน้ำมันครั้งนี้ เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียก็เจ็บเช่นกันเพราะถ้าจะให้อยู่ได้พวกเขาต้องการราคาน้ำมันให้อยู่ที่ $80 บาร์เรล รัสเซียเองก็ได้รับผลกระทบจากปริมาณความต้องการน้ำมันที่ลดลงเมื่อไม่มีใครต้องการน้ำมันการผลิตน้ำมันจากภูมิภาคยูราล ไซบีเรียตะวันตกและภูมิภาค Povolzhye ซึ่งทั้งสามแห่งนี้สามารถผลิตน้ำมันได้มีน้ำหนักเบากว่าเบรนท์เสียอีก
โกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า “ระบบเศรษฐกิจโลกนั้นซับซ้อนกว่าที่เราคิดและวงการพลังงานก็เช่นเดียวกัน ไม่มีซัพพลายที่ไหนอยากผลิตหากว่าไม่มีความต้องการน้ำมันในตลาด” ในขณะที่วอลล์สตรีทกล่าวว่า “จากวิกฤตวงการน้ำมันในตอนนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าต้องมีการปรับรูปแบบการจัดการน้ำมันของโลกใหม่ทั้งหมด เราถกเถียงกับเรื่องตราชั่งอุปทานและอุปสงค์มานานพอแล้ว ตราบเท่าที่ยังมีความต้องการหรือยังมีต้นทุนเพื่อสร้างผลผลิตตราบนั้นวงการน้ำมันจะยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้”
ราคาทองคำที่วิ่งไปพร้อมกันกับตลาดหุ้น
ราคาทองคำกับตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้มีโอกาสจะวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ข่าวและพฤติกรรมราคาในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะเป็นตัวกำหนดว่าทองคำควรจะวิ่งไปทางไหน ให้นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์ไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าจำนวนยอดผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นและสถานการณ์จะแย่ลง ตอนนี้ตัวเลขยอดจำนวนผู้ติดเชื้อของสหรัฐฯ สูงนำประเทศจีนเรียบร้อยด้วยยอดจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะที่เขียนบทความ 145,000 รายและมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,500 คน
ราคาทองคำล่วงหน้าสำหรับส่งมอบในเดือนเมษายนปรับตัวสูงขึ้น 9.5% มีราคาอยู่ที่ $1,625 ต่อออนซ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งถือเป็นสัปดาห์การวิ่งที่ดีที่สุดในรอบเกือบ 12 ปี สาเหตุมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐที่ทำให้นักลงทุนทองคำเชื่อว่าสกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนมูลค่าลงและราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น
สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์สำคัญเพราะตามปฏิทินเศรษฐกิจแล้วนี่ถือเป็นสัปดาห์แรกของเดือนใหม่ ดังนั้นนักลงทุนจะให้ความสนใจไปยังข้อมูลรายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ จากตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในสัปดาห์แล้วที่ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ดังนั้นตัวเลขการจ้างงานฯ ในวันศุกร์เชื่อว่าจะมีคนตกงานอย่างน้อย 100,000 ตำแหน่ง
นายเจฟฟรี่ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ OANDA มองว่า “หากมีอะไรผิดคาดที่ทำให้ราคาทองคำต้องปรับตัวกลับลงมา กราฟมีโอกาสลงมาอยู่ต่ำกว่า $1,600 ต่อออนซ์ได้ แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานดูแล้วราคาทองคำควรที่จะปรับตัวขึ้นแต่เพราะนักลงทุนบางส่วนยังไม่กล้าที่จะกลับเข้ามาในตลาดในสัปดาห์แห่งความผันผวนนี้ ดังนั้นราคาทองคำอาจขึ้นไปได้มากสุดไม่เกิน $1,650 ต่อออนซ์ในสัปดาห์นี้”