ตั้งเป้างบลงทุน 5 หมื่นลบ. ใน 5 ปี มีโอกาสเพิ่มทุนแต่เป็นโอกาสไม่ใช่ความเสี่ยง
เราคาด DE Ratio ของ BCPG ในปี 2562 ที่ 1.2 เท่า ด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 1.5 หมื่นลบ. จึงมีความเป็นไปได้ว่าการเพิ่มทุนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทอาจเลือกใช้ในการระดมเงินทุน หากได้โครงการที่น่าสนใจในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้พลาดโครงการที่มีผลตอบแทนสูง ซึ่งจะหนุนกำไรเติบโตมากกว่า Dilution ล่าสุดวันที่ 19 ก.ย. บริษัทประกาศซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Nam San 3A เงินลงทุน 5,315 ลบ. (ใช้แหล่งเงินทุนในบริษัทและเงินกู้) เทียบเท่า PER2561 ต่ำเพียง 9 เท่า (77 ลบ./MW) ดำเนินการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในประเทศลาว กำลังการผลิตติดตั้ง 69 MW อายุโครงการ 27 ปี COD แล้วตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2559 คาดธุรกรรมเสร็จสิ้นภายใน 3Q62 ดังนั้น คาดว่าจะรวมงบได้ทันทีตั้งแต่ 4Q62 คาดกำไรที่ราว 90 ลบ. (บนสมมติฐาน Conservative ที่ใช้เงินกู้ 100%) หนุนกำไร 4Q62 ของ BCPG สูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส และหนุนกำไรปีหน้าอาจแตะ 2,000 ลบ. ได้ เติบโตถึง 35% YoY+/- อย่างไรก็ตามเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการเนื่องจากยังมีข้อมูลจำกัด ประเมินเบื้องต้นมีส่วนเพิ่มราคาเป้าหมายของเราอีก 2.41 – 2.62 บาท ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุน เราคาดว่ายังมีโครงการที่มีศักยภาพอีกมากอาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่น หรือโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลี เป็นต้น นักลงทุนจึงไม่ควรกังวลต่อการเพิ่มทุนของบริษัทมากเกินไป เพราะเรามองเป็นโอกาสเพิ่มการเติบโตในอัตราเร่งมากกว่าความเสี่ยง
โอกาสการลงทุนในต่างประเทศ
BCPG กระจายความเสี่ยงในการลงทุนในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายประเทศ ปี 2560 เริ่มลงทุนในธุรกิจพลังงานลมในฟิลิปปินส์ด้วยสัดส่วน 40% ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ด้วยสัดส่วน 33.33% การลงทุนประเทศอินโดนีเซียนั้นหากหาแหล่งผลิตใหม่และจ่ายพลังไฟฟ้าเข้าระบบได้ก่อนที่สัญญาก่อนหน้าหมดอายุ สัญญาฉบับใหม่จะช่วยต่ออายุสัญญาฉบับเก่าอัตโนมัติ รับรู้เป็นส่วนแบ่งทางกำไรของบริษัทร่วม ปัจจุบันกำลังผลิตทั้ง 2 ประเทศอยู่ที่ 201.5 MWe ดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 171.9 MWe ซึ่งรวมไว้ในประมาณการแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 29.6 MWe ยังไม่รวมไว้ในประมาณการ คาด COD ปี 2565 – 2567
การกลับมาเติบโตในปี 2563 พร้อมโครงการ M&A ที่ COD แล้ว
กำไรปกติ 1H62 คิดเป็นสัดส่วน 50.3% ของประมาณการกำไรปกติทั้งปี 2562 ของเราที่ 1,481 ลบ. (-4.1% YoY) คาดรายได้และกำไรปกติลดลงเล็กน้อย HoH เพราะเป็น Low season ของแดดในไตรมาส 3 คาดแรงหนุนของโครงการใหม่ในลาวช่วยหนุนกำไรทรงตัวได้ YoY อย่างไรก็ตามในปี 2563 รายได้และกำไรปกติจะกลับมาเติบโตอีกครั้งจากการรับรู้รายได้ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Komagane ในญี่ปุ่น และรับรู้รายได้จากโครงการในลาวเต็มปี(ไม่รวมในประมาณการ) คาดรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 3,558 ลบ. (+13% YoY) และกำไรปกติคาดที่ 1,637 ลบ. (+10.5% YoY) และเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 จากการดำเนินงานโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Yabuki และ Chiba 1 ณ ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ประมาณการมี Upside จาก 1) ธุรกิจ Solar rooftop ขนาด 23.4 MW กับแสนสิริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอื่นๆ 2)พลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 4 โครงการขนาด 41.5 MW 3) โครงการพลังงานน้ำในลาว และ 4) โครงการใหม่จากการ M&A หลังจากนี้ เราประเมินมูลค่า BCPG ด้วยวิธี DCF ที่ WACC 6.09% แบ่งเป็นรายประเทศ ดังนี้ 1)ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้ราคาเป้าหมายที่ 8.26 บาทต่อหุ้น 2)ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ราคาเป้าหมายที่ 0.40 บาทต่อหุ้น และ 3) ประเทศอินโดนีเซีย ได้ราคาเป้าหมายที่ 12.96 บาทต่อหุ้น โดยรวมได้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2563 ของ BCPG ที่ 21.50 บาทมี Upside gain 16% เริ่มต้นคำแนะนำ “ซื้อ” ยังไม่รวมกำไรจากโครงการในประเทศลาวไว้ในประมาณการซึ่งจะเพิ่ม Upside ของราคาเป้าหมายอีก 2.41 – 2.62 บาทValuation
ใช้วิธี Discount Cash Flow ในการประเมินหุ้น BCPG เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจหลักในพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว ประกอบด้วย 4 ประเทศหลัก ดังนี้
1.พลังงานหมุนเวียนประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Terminal growth 0% ด้วย WACC 6.09% ได้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 8.26 บาทต่อหุ้น
2. พลังงานหมุนเวียนประเทศฟิลิปปินส์ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานลม Terminal growth 0% ด้วย WACC 6.09% ได้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 0.40 บาทต่อหุ้น
3. พลังงานหมุนเวียนประเทศอินโดนีซีย คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Terminal growth 3% ด้วย WACC 6.09% ได้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 12.96 บาทต่อหุ้น
เริ่มต้นคำแนะนำ “ซื้อ”
คาดกำไรปกติในปี 2562 ลดลงเล็กน้อย 4.1% จากการขาย 2 โครงการให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น (IFF) อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 คาดกำไรปกติจะกลับมาเติบโต 10.5 % เทียบเท่า PER 2562 – 2563 ที่ 25.1x และ 22.7x ตามลำดับ ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 21.50 บาทต่อหุ้น ด้วย Upside gain 16%เริ่มต้นคำแนะนำ “ซื้อ”
ข้อมูลทั่วไปของบริษัท
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) ดำเนินธุรกิจในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar power plant) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop power plant) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind power plant) รวมทั้งลงทุนผ่านบริษัทร่วมที่ดำเนินการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal power plant) มีบริษัทย่อยทั้งหมด 54 บริษัท แบ่งเป็น 9 บริษัทย่อยในประเทศไทย 38 บริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่น 5 บริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ 1 บริษัทย่อยในประเทศเนเธอร์แลนด์ และ 1 บริษัทย่อยในประเทศฟิลิปปินส์
หากแบ่งธุรกิจตามภูมิประเทศแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเทศหลัก ดังนี้
ประเทศที่ 1 ประเทศไทย กำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด 147.9 MW มี 2 โรงไฟฟ้าหลัก คือ
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar power plant) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 138.9 MW ด้วยขนาดกำลังการติดตั้งทั้งหมด 191 MW ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทย่อย
- ประเภทที่ได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (THB-kWh) เป็นระยะเวลา 10 ปี มีทั้งหมด 8 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 118 MW ประกอบด้วย BCPG, BSE-BNN, BSE-BPH, BSE-BRM, BSE-BRM1, BSE-CPM1, BSE-NMA และ BSE-PRI อายุโครงการ 25 ปี ทำสัญญาการซื้อขายกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาการซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
- การรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff มีทั้งหมด 5 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 20.9 MW โดยที่ 3 โครงการแรกราคา 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (THB-kWh) ขนาดการผลิตทั้งหมด 12 MW ประกอบด้วย CAYA, CWSC และ CBPI ส่วนอีก 2 โครงการ ราคา 4.12 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (THB-kWh) ขนาดการผลิตทั้งหมด 8.9 MW ประกอบด้วย CWVO สระบุรี และ CWVO กาญจนบุรี อายุโครงการของทั้ง 5 โครงการอยู่ที่ 25 ปี สัญญาซื้อขายกับ กฟภ.แบบการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (Solar farm)
ปัจจุบัน ได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 13 โครงการ กำลังการผลิต ทั้งหมด 138.9 MW
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind power plant) สัญญาซื้อขายไฟทั้งสิ้น 1 โครงการ รวมขนาดการผลิตตามสัญญา 9 MW ด้วยขนาดการติดตั้งทั้งหมด 10 MW คือ โครงการลมลิกอร์ (Lomligor) เป็นโครงการที่ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.5 THB-kWh เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งอายุโครงการ 25 ปี เริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ตั้งแต่ เดือน เมษายน 2562
นอกจากนี้ยังมีหน่วยธุรกิจ Other solar projects ซึ่งเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการ จำนวน 23.4 MW แบ่งออกเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และโซลาร์ลอยน้ำ
(1) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop power plant) มีทั้งหมด 6 โครงการ รวมขนาดการผลิตตามสัญญาและขนาดการติดตั้งทั้งหมด 23.2 MW โดยการติดตั้งให้กับหุ้นส่วนต่างๆ อาทิ แสนสิริ ด้วยกำลังการผลิต 0.8 MW, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยกำลังการผลิต 12 MW, และอื่นๆอีก 10.4 MW ปัจจุบัน ได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 2 โครงการ กำลังการผลิต ทั้งหมด 0.8 MW และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 4 โครงการ จำนวน 22.4 MW ซึ่งโครงการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปลายปี 2562
(2) โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) มีทั้งหมด 1 โครงการ รวมขนาดการผลิตตามสัญญาและขนาดการติดตั้งทั้งหมด 0.2 MW โดยจำหน่ายให้กับบริษัทบางจากไบโอฟูเอล (Bangchak Biofuel) ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนา
ประเทศที่ 2 ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด 131.2 MW มี 1 โรงไฟฟ้าหลักคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar power plant) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งสิ้น 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 131.2 MW ด้วยขนาดกำลังการติดตั้งทั้งหมด 168.5 ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) อายุโครงการ 20 ปี แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย คือ (1) อัตราค่าไฟ 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (JPY-kWh) มีทั้งหมด 4 โครงการ รวมกำลังผลิต 10.7 MW ประกอบด้วย Takamori, Nakatsugawa, Nojiri และ Tarumizu (2) อัตราค่าไฟ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (JPY-kWh) มีทั้งหมด 7 โครงการ รวมกำลังการผลิต 106.5 MW ประกอบด้วย Komagane, Yabuki, Chiba 1, Nagota, Isakida, Shimoyunohira และ S5 (3) อัตราค่าไฟ 32 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (JPY-kWh) มีทั้งหมด 2 โครงการ รวมกำลังการผลิต 14 MW ประกอบด้วย Gotemba และ Chiba 2
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โครงการถูกขายให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น (IFF) เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2561 เป็นจำนวนเงิน 793 ลบ. คือ โครงการ Nikaho และ Nagi รวมขนาดการผลิตตามสัญญา 18.5 MW ด้วยขนาดการติดตั้งทั้งหมด 27.6 MW
ทำให้ปัจจุบัน กำลังการผลิตทั้งสิ้นที่ 131.2 MW ได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 5 โครงการ ด้วยกำลังการผลิต 14.7 MW และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 8 โครงการ กำลังการผลิตอีก 116.5 MW โดยที่ 4 โครงการ (Komagane, Yabuki, Chiba 1 และ Chiba 2) จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2563 – 2565 ในขณะที่อีก 4 โครงการ (Nagota, Isakida, Shimoyunohira และ S5) อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ประเทศที่ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ โดยลงทุนผ่านบริษัทร่วม กำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด 50 MW มี 1 โรงไฟฟ้าหลักคือ โรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind power plant) ถือหุ้นร้อยละ 40 ของทุนเรียกชำระใน BCPG Wind Holding Cooperatief U.A. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยจำนวนเงิน 921.57 ลบ. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 รวมขนาดการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนที่ 20 MW สัญญาซื้อขายไฟทั้งสิ้น 2 โครงการ คือ โครงการ Nabas 1 และ Nabas 2 การรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 7.4 เปโซต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (PESO-kWh) หรือราวๆ 5 – 6 บาท/kWh อายุโครงการ 20 ปี
ปัจจุบัน ได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 1 โครงการ คือโครงการ Nabas 1 กำลังการผลิต ทั้งหมด 14.4 MW และ อยู่ระหว่าการพัฒนาอีก 1 โครงการ คือ โครงการ Nabas 2 กำลังการผลิตทั้งหมด 5.6 MW คาดจะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2565 ซึ่งเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการ
ประเทศที่ 4 ประเทศอินโดนีเซีย โดยลงทุนผ่านบริษัทร่วม กำลังการผลิตตามสัญญาทั้งหมด 995 MW มี 1 โรงไฟฟ้าหลักคือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal power plant) ถือหุ้นร้อยละ 33.3 ของทุนเรียกชำระใน Star Energy Group Holding Pte. Ltd. (SEGHPL) ประเทศสิงคโปร์ ด้วยจำนวนเงิน 11,956 ลบ. เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 รวมขนาดการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 181.5 MW สัญญาซื้อขายไฟทั้งสิ้น 3 โครงการ คือ Salak (65MW), Darajat (47MW) และ Wayang Windu (unit 1-2 ที่ 45MW และ unit 3-4 ที่ 24MW) ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ tariff เฉลี่ยที่ 0.06 – 0.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (USD-kWh)
ปัจจุบัน ได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 3 โครงการ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 157.5 MW และ อยู่ระหว่าการพัฒนาในโครงการ Wayang windu unit 3-4 รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 24 MW คาดจะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2565 - 2567 ซึ่งเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการ
ผู้นำเรื่องเทคโนโลยี
BCPG ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยก่อตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Thai Digital Energy Development (TDED) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง BCPG กับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งเพื่อดำเนินการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า solar rooftop โดยวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งบริษัท คือ เพื่อซื้อขายและฝากพลังงานที่เหลือจากการไม่ได้ใช้งาน (Energy Trading Blockchain) หรือบริการติดตั้ง ซ่อมบำรุงแผงโซลาร์อย่างครบวงจร โดยผ่าน application ที่ชื่อว่า Hero Platform มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 200 ลบ. โดย BCPG ถือหุ้นที่ร้อยละ 75 และ PEA ENCOM ถือหุ้นที่ร้อยละ 25 ปัจจุบันได้เริ่มโครงการให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยจำนวน 12 MW คาดจะเริ่มให้บริการใน 4Q62 ซึ่งเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการ
ต่อยอดด้วยการได้รับแรงสนับสนุนจาก Power Ledger ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาระบบจัดการพลังงานชั้นนำทั่วโลก เพื่อพัฒนาระบบ Peer-to-peer trading ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน มี 4 โครงการที่เข้าร่วม คือ Habito community mall, Park Court Condominium, Bangkok International Preparatory & Secondary School และ โรงพยาบาลฟัน Dental hospital เนื่องจากแต่ละอาคารมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน พลังงานที่เหลือจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ (Energy Storage) และจะถูกนำไปขายให้กับผู้ที่ต้องการใช้ไฟ โดยที่ BCPG จะช่วยเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่าผู้ซื้อและผู้ขาย
นอกจากนี้ BCPG เริ่มศึกษาการลงทุนใน S-curve ใหม่ๆ อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียม และ EV car ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์หลักของแผน PDP 2018 ที่จะมีการปรับใหม่ ซึ่งเรายังไม่รวมหน่วยธุรกิจด้านเทคโนโลยีนี้ไว้ในประมาณการ แม้ว่ากำลังการผลิตปัจจุบันภายใต้เทคโนโลยีเหล่านี้จะยังไม่มาก แต่เป็นแนวโน้มของการบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาล จึงเป็นโอกาสในอนาคตของ BCPG
การปรับนโยบายใน PDP 2018
หลังจากการประกาศในการปรับปรุงนโยบายในแผน PDP 2018 ใหม่ ดูจะเป็นบวกให้แก่ผู้นำทางด้านพลังงานทดแทน อาทิ นโยบายการปรับสัดส่วนพลังงานทดแทนจาก 30% เป็น 40% เป็นโอกาสที่ BCPG จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยผ่านการเข้าร่วมประมูลในแผนใหม่นี้
นโยบายในการปรับโครงสร้างของพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนเป็น 1,000 MW ภายในปี 2572 หรือปีละ 100 MW ระยะเวลา 10 ปี เป็นโอกาสให้กับ BCPG เนื่องจากมีประสบการณ์อยู่แล้ว ปัจจุบันมี 3 โครงการนำร่องในการติดตั้ง solar rooftop ในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ของรัฐบาล ประกอบด้วย T77 ร่วมกับแสนสิริ, Smart city ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Sun Share Smart Green Energy ร่วมกับ SC Asset
รัฐบาลมีเป้าหมายในการกระจายอำนาจ (Decentralization) การบริหารพลังงานจากส่วนกลาง สู่ส่วนท้องถิ่นหรือส่วนภูมิภาค และสร้างชุมชนให้มีระบบรับส่ง – จ่ายไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยี Hero Platform ของ BCPG นี้จะเป็นสิ่งที่มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายของรัฐบาล
Hero platform จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มีความต้องการติดตั้ง solar rooftop โดยมีส่วนช่วยจัดหาทั้งแหล่งเงินทุนและให้ความรู้เกี่ยวกับ solar rooftop ทำให้สามารถกระจายกำลังการผลิตไปสู่ภาคประชาชนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งตรงตามกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในแผน PDP ใหม่นี้ Hero Platform ช่วยวิเคราะห์ความเหมาะสมของขนาดการติดตั้ง ขนาดการใช้พลังงาน รูปแบบการลงทุน (ลงทุนเอง, ผ่อนชำระผ่านธนาคาร, พันธมิตรร่วมลงทุน) ดูแล บำรุงรักษา และให้คำแนะนำหลังให้บริการ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลรวบรวมลักษณะผลิตภัณฑ์ จะเริ่มให้บริการที่จังหวัด เชียงใหม่ ระยอง โคราช และภูเก็ตเป็นที่แรกก่อน หลังจากนั้นมีแผนที่จะขยายผลไปอีก 12 จังหวัด
ลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
BCPG เพิ่มมูลค่าของกิจการและกระจายความเสี่ยงของรายได้ ผ่านการลงทุนในต่างประเทศ โดยเลือกประเทศที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้ว 3 ประเทศ คือ
- ประเทศญี่ปุ่น อัตราค่าไฟสูงถึง 32 – 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (JPY-kWh) หรือราวๆ 9 – 11 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบัน มีกำลังผลิตมากถึง 131.2 MW ซึ่งได้ทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ไปแล้วจำนวน 4 โครงการ ขนาดรวม 14.7 MW และจะทยอยจำหน่ายเชิงพาณิชย์อีก 75 MW ภายในปี 2565 ส่วนอีกจำนวน 4 โครงการ ขนาด 41.5 MW อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงยังไม่รวมในประมาณการ
- ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม จุดประสงค์เพื่อลด Seasonality effect ของกำไร เนื่องจาก แดดจะดีในไตรมาส 2 และแย่ลงในไตรมาส 3 ทำให้กำไรปกติในไตรมาส 2 จะเด่นกว่าไตรมาสอื่น ดังนั้นการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานลมมาจะช่วยลดความผันผวนของกำไร เพราะลมจะน้อยในไตรมาส 2 และดีในไตรมาส 3 ซึ่งสวนทางกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน กำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 36 MW (หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 14.4 MW) ซึ่งถูกรวมไว้ในประมาณการแล้ว และยังไม่รวมไว้ในประมาณการ อีก 14 MW (หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 5.6 MW) เพราะอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดจะเริ่มจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565
- ประเทศอินโดนีเซีย BCPG เล็งเห็นศักยภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เนื่องจาก Capacity factor ของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพสูงถึง 96% รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในประเทศอินโดนีเซีย โดยปกติแล้วอายุเฉลี่ยของสัญญาจ่ายไฟจะอยู่ที่ 20 -30 ปี แต่หากทางบริษัทที่อินโดนีเซียสามารถหาแหล่งผลิตใหม่และจ่ายพลังไฟฟ้าเข้าระบบได้ก่อนที่สัญญาก่อนหน้าจะหมด ตัวอายุสัญญาฉบับใหม่จะช่วยต่ออายุสัญญาฉบับเก่าไปด้วย ปัจจุบัน กำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 875 MW (หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 157.5 MW) ซึ่งรวมไว้ในประมาณการแล้ว และยังไม่รวมไว้ในประมาณการ อีก 120 MW (หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 24 MW) เพราะอยู่ในระหว่างการพัฒนา คาดจะเริ่มจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567
BCPG จะรับรู้ผลประกอบการของธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ผ่านการรับรู้ส่วนแบ่งทางกำไรของบริษัทร่วม เนื่องจากถือหุ้นเพียง 40% ในประเทศฟิลิปปินส์ และ 17% - 20% ในประเทศอินโดนีเซีย แต่มีผลต่อกำไรสุทธิของ BCPG มาก คาดเป็นสัดส่วนกำไรถึง 30.2% ของกำไรสุทธิทั้งหมดของ BCPG ในปี 2562
โอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
BCPG กระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยมองการลงทุนโรงไฟฟ้าในรูปแบบอื่น และในประเทศอื่น ตั้งเป้างบลงทุนสูงถึง 5 หมื่น ลบ. ภายในระยะเวลา 5 ปี เช่น การประมูลโรงไฟฟ้าโซลาร์ ณ ประเทศมาเลเซีย, โรงไฟฟ้าชีวมวล ณ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสามารถผลิตไฟได้มากถึง 24 ชม. และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ณ ประเทศเกาหลี โดยไม่คำนึงเพียงแต่ผลประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่จะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นอีกด้วย รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความเสี่ยงเชิงนโยบาย, การจัดหาแหล่งทรัพยากรในการผลิตไฟ, ความต้องการใช้ไฟฟ้า และอัตรากำลังการผลิตไฟ (Capacity factor) เป็นต้น การควบรวมกิจการในอนาคตมีนัยสำคัญต่อประมาณการ
ผลประกอบการ
แนวโน้มครึ่งปีหลัง
BCPG รายงานรายได้ใน 1H62 ที่ 1,655 ลบ. (-1.2% YoY) อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นจาก 70.9% ใน 1H61 เป็น 74% ใน 1H62 กำไรปกติอยู่ที่ 878 ลบ. (+17.8% YoY) คิดเป็น 50.3% ของประมาณการของเราที่คาดการณ์ แม้รายได้จะปรับตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากการขายโครงการ 2 โครงการที่ประเทศญี่ปุ่น คือ โครงการ Nikaho และ Nagi รวมจำนวน 19 MW ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น (IFF) เมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 2561 ทำให้รายได้จากส่วนนี้หายไป อย่างไรก็ตามอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรปกติดีขึ้น จากความเข้มของแสงแดดที่ดีขึ้น, การรับรู้รายได้ของโครงการทหารผ่านศึกขนาด 9 MWที่มีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ไปเมื่อ เดือน ก.ค. 2561 และการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ของโครงการพลังงานลมลมลิกอร์ เมื่อ เดือน เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา
แนวโน้ม 2H62 คาดรายได้และกำไรปกติทรงตัว HoH แม้เป็น Low season ของแสงแดดในไตรมาสที่ 3 และ ทรงตัว YoY แม้มีการขาย 2 โครงการให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น (IFF) จำนวน 19 MW เมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 2561 แต่การรับรู้กำไรจากการดำเนินการของโครงการพลังงานลมลิกอร์ จำนวน 9 MW ใน 1Q62, โครงการ solar rooftop โครงการมหาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 12 MW ใน 4Q62 (ยังไม่รวมโครงการ solar rooftop ไว้ในประมาณการ) และการรับรู้กำไรของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวที่เริ่มรับรู้รายได้ใน 4Q62 เป็นไตรมาสแรก (ยังไม่รวมในประมาณการ) จะช่วยเข้ามาทดแทนจำนวนกำลังผลิตที่หายไปภายในปีนี้ เราประมาณการรายได้ทั้งปี 2562 อยู่ที่ 3,149 ลบ. (-5.2 % YoY) คาดอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 67.8% ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 448 ลบ. (+119.3% YoY เพราะมีค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวน 207 ลบ. ในปี 2561) และกำไรปกติอยู่ที่ 1,481 ลบ. (- 4.1% YoY)
ตั้งแต่ปี 2563 กลับมาเติบโตพร้อมโอกาสจากโครงการใหม่ๆ
ปี 2563 คาดรายได้หลักอยู่ที่ 3,558 ลบ (+13% YoY) คาดอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 67.3% เพราะ ราคาขายไฟในโครงการใหม่ต่ำกว่าโครงการก่อนหน้า ส่วนการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสุทธิคาดที่ 465 ลบ. โต 3.9% YoY และกำไรปกติอยู่ที่ 1,637 ลบ. (+10.5% YoY) จากการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการพลังงานลมลิกอร์ และการจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 1 โครงการใน 1H63 คือ โครงการ Komagane ณ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยกำลังการผลิตที่ 25 MW เราให้สมมติฐาน Capacity factor ที่ 17% คาดรายได้จากโครงการ Komagane อยู่ที่ 357 ลบ. อัตรากำไรขั้นต้นคาดที่ 64% ด้วยกำไรสุทธิ 120 ลบ. นอกจากนี้ยังมี Upside จากการรับรู้กำไรเต็มปีของโรงไฟฟ้าพลังงาน ประเทศลาวจากการลงทุนในบริษัท Nam San 3A ในสัดส่วน 100% ซึ่งเรายังไม่รวมไว้ในประมาณการและมีนัยสำคัญต่อราคาเป้าหมาย
ปี 2564 คาดรายได้หลักอยู่ที่ 3,844 ลบ (+8% YoY) อัตรากำไรขั้นต้นคาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 69% จาก 67.3% ในปี 2563 ส่วนการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสุทธิคาดที่ 483 ลบ. โต 3.8% YoY และกำไรปกติอยู่ที่ 1,793 ลบ. (+9.5% YoY) จากการทยอยจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 2 โครงการ ในปี 2564 คือ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Chiba 1และ Yabuki ณ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยกำลังการผลิตโครงการละ 20 MW คาดจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วง 1H64 และ 2H64 ตามลำดับ เราให้สมมติฐาน Capacity factor ที่ 9% ในปี 2564 คาดรายได้จาก 2 โครงการใหม่อยู่ที่ 286 ลบ. กำไรสุทธิคาดที่ 48 ลบ. และให้สูงสุดในปี 2565 ด้วย Capacity factor เต็มจำนวนที่ 17% คาดรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 572 ลบ. ด้วยกำไรสุทธิคาดที่ 176 ลบ.
โครงการในญี่ปุ่น ช่วยหนุนรายได้ จาก Adder ที่จะหมด
ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป รายได้ อัตรากำไรขั้นต้น และกำไรสุทธิมีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจาก Adder จะหมดลง เริ่มจากโครงการ BCPG ขนาดกำลังการผลิต 38 MW จะหมดในปี 2565, โครงการ BNN และ BPH ขนาดกำลังการผลิตรวม 32 MW จะหมดลงในปี 2566 และอีก 5 โครงการ ประกอบด้วย BRM, BRM1, CPM1, NMA และ PRI ขนาดกำลังการผลิตรวม 48 MW จะหมดลงในปี 2567 ทำให้รายได้ลดลง 8.9% CAGR 4 ปี (2563 – 2567) อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่ในญี่ปุ่นจะมาช่วยเพิ่มรายได้และกำไรปกติจากโครงการที่หมด adder ในไทย ทำให้สัดส่วนรายได้จากประเทศไทยลดลงเป็น 46% ในปี 2567 จาก 83% ในปี 2563 และสัดส่วนรายได้จากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 54% ในปี 2567 จาก 17% ในปี 2563 ทั้งนี้ยังไม่รวมโอกาสจากโครงการใหม่ๆ ภายใต้แผนการลงทุน 5 หมื่น ลบ. ของบริษัทที่จะมาช่วยหนุนการเติบโตของกำไรในช่วงที่ Adder หมด
ตั้งเป้าลงทุน 5 หมื่น ลบ. ภายในระยะเวลา 5 ปี Upside ที่มีนัยสำคัญมาก
การลงทุนโดยผ่านบริษัทร่วมในปี 2559 จะช่วยหนุนกำไรโดยตรง แต่จะไม่สะท้อนในรายได้ ถือเป็น Recuring income ที่ช่วยลดความผันผวนของกำไร และได้สิทธิประโยชน์ในการไม่เสียภาษีอีกด้วย ปัจจุบัน กำลังผลิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ และ ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ที่ 14.4 MW และ 181.5 MW ตามลำดับ คาดส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมอยู่ที่ 465 ลบ. ในปี 2563 (คิดเป็นสัดส่วน 28% ของกำไรปกติ) เพิ่มขึ้นเป็น 538 ลบ. ในปี 2567 (คิดเป็นสัดส่วน 58% ของกำไรปกติ)
นอกจากนี้ มีกำลังผลิตเพิ่มเติมที่ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 5.6 MW ในปี 2565 และประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 24 MW ในปี 2565 - 2567 ซึ่งเป็นกำลังการผลิตใหม่ที่ยังไม่รวมไว้ในประมาณการ อีกทั้งโอกาสในการได้โครงการใหม่ๆในช่วง 5 ปีนี้ ตั้งเป้าเงินลงทุนสูงถึง 5 หมื่น ลบ. ซึ่งจะช่วยจำกัดการหดตัวของกำไรในช่วงที่หมด Adder ทำให้กำไรให้ไม่ปรับตัวลงแรง และช่วยชดเชยการหดตัวอย่างจำกัด
ฐานะทางการเงิน
คาด DE Ratio และ Gearing Ratio เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2563 ที่ 1.27x และ 1.22x จาก 1.19x และ 1.17x ในปี 2562 ตามลำดับ จากการลงทุนโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการ Komagane, Yabuki, Chiba 1 และ Chiba 2 ถึงแม้ว่าอัตราจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรม และมี D/E Ratio Covenant สูงถึง 3.0x ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการทำ M&A หรือลงทุนในโครงการใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ธุรกิจที่ยังไม่ได้รวมในประมาณการ
- โครงการ Solar rooftop และโซลาร์ลอยน้ำ ณ ประเทศไทย กำลังการผลิต 23.4 MW
- โครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 4 โครงการ ณ ประเทศ ญี่ปุ่น จำนวน 41.5 MW ประกอบด้วย โครงการ Shimoyonohira (8 MW), Nagoya (24 MW), Isakida (3.5 MW) และ S5 (6 MW)
- การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสุทธิของพลังงานลม ณ ประเทศ ฟิลิปปินส์ โครงการ Nabas 2 จำนวน 14 MW หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 5.6 MW
- การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสุทธิของพลังงานความร้อนใต้พิภพ ณ ประเทศอิโดนีเซีย โครงการ Wanyang – Windu unit 3 และ 4 จำนวน 24 MW หากคำนวณตามสัดส่วนการลงทุนจะอยู่ที่ 14 MW
ความเสี่ยง
- การเลื่อนจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนโยบายทีรัดกุมยิ่งขึ้น และเหตุการณ์โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2563
- ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของแสงแดด ทิศทางลม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
- การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานทั้งในและต่างประเทศ และการแข่งขันที่สูงขึ้น อาจกระทบผลตอบแทนการลงทุนของธุรกิจพลังงานทดแทน
- พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไม่ทันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
บทวิเคราะห์นี้จัดทำขึ้นและเผยแพร่โดยทีมนักวิเคราะห์ของ Yuanta Securities