โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2019
ภายในช่วง 24 ชั่วโมงต่อจากนี้ไปจะมี 3 เหตุการณ์ที่นับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อทิศทางของค่าเงินสกุลต่างๆ โดยเหตุการณ์ที่น่าจะส่งผลกระทบได้มากที่สุดคือการออกมาแสดง ความคิดเห็นของนายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงิน ถัดมาจะเป็น การแถลงนโยบายทางการเงิน ของธนาคารกลางแคนาดา โดยทั้งสองเหตุการณ์อาจไม่ส่งผลกับค่าเงินแต่มีความเป็นได้สูงที่ตลาดจะเกิดการเคลื่อนที่แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นได้
สำหรับเงิน ดอลลาร์สหรัฐ นั้น ทุกคนต่างจับจ้องไปที่การแถลงของนายพาวเวลล์ ว่าเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการฟื้นตัวของดอลลาร์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และจากรายงานปริมาณการจ้างงานที่ออกมาดีเกินเป้านั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจของเฟดหรือไม่? เฟดจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ดี?
จากการประชุมทางด้านนโยบายการเงินครั้งที่ผ่านมา ธนาคารกลางชี้แจงไว้อย่างชัดเจนว่าการที่จะใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินนั้นจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ตั้งแต่นั้นมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ นอกเหนือจากปริมาณาการจ้างงานยังมีค่าแย่ลง กล่าวคือ อัตราการว่างงาน เพิ่มสูงขึ้น การเติบโตของค่าจ้าง ต่ำลง ยอดขายบ้าน ก็ยังมีทิศทางไม่ชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่น ลดลงเนื่องจากตัวเลข ภาคการผลิต และ ภาคบริการ ยังชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ กับจีนตกลงที่จะเริ่มการเจรจาทางการค้ากันใหม่อีกรอบหนึ่งนั้นทำให้เฟดอาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินที่มากเกินไป
เมื่อพิจารณาจากท่าทีที่ยังเป็นด้านบวกในการประชุมเฟดครั้งที่ผ่านมาและระยะเวลานับจากการออกมาแสดงความคิดเห็นครั้งที่แล้ว เราเชื่อว่านายพาวเวลล์จะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการแถลงครั้งนี้ที่ Capitol Hill ในการชี้แจงว่าเหตุใดธนาคารกลางจึงมีแนวความคิดที่จะ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประธานเฟดมุ่งประเด็นไปที่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตและใช้เวลาในการชี้แจงส่วนใหญ่ไปกับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว USD/JPY อาจจะเกิดการกลับตัวแล้วดิ่งลงไปต่ำกว่าระดับ 107.50 ส่วน EUR/USD ก็อาจจะไต่ขึ้นมาอยู่เหนือ 1.13 ได้ แต่สกุลเงินที่จะปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดน่าจะเป็น ฟรังก์สวิส และ ดอลลาร์นิวซีแลนด์ แต่หากความคิดเห็นของเขามีท่าทีเป็นไปในทิศทางที่ดี ดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะพุ่งขึ้นต่อได้อีก รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (FOMC) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะออกมาในแนวทางที่ดูประนีประนอมนั้นจะไม่ได้รับความสนใจเลย หากความเห็นของนายพาวเวลล์เป็นไปในทางบวกแต่ค่าเงินดอลลาร์ยังดิ่งลง
สำหรับธนาคารกลางแคนาดาซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่จะออกมาแสดงท่าทีนั้น หลายฝ่ายก็รอที่จะฟังว่าสุดท้ายแล้วธนาคารกลางแคนาดาจะเปลี่ยนใจมาใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินด้วยหรือไม่ เพราะจากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม มีการชี้แจงออกมาว่าสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของแคนาดานั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ตั้งแต่นั้นมา เราก็เห็นสัญญาณแรกที่ชี้ว่าเศรษฐกิจของแคนาดากำลังเกิดการชะลอตัว แต่ก็อาจเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าเป็นการชะลอตัวหรือปรับสมดุลกันแน่ กล่าวคือ ยอดขายปลีก ประจำเดือนเมษายนแทบจะไม่ขยับตัวเพิ่มขึ้นเลย แต่ในขณะที่เดือนมีนาคมกลับมีการใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก ทางด้านของ ปริมาณการจ้างงาน ในเดือนมิถุนายนที่น้อยลงนั้น เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ตัวเลขตลาดแรงงานกลับมีมากขึ้นจนทำลายสถิติสูงสุด รวมทั้งมีการเติบโตของค่าจ้างดีขึ้น จากสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนดังกล่าว เราเชื่อว่าธนาคารกลางแคนาดาน่าจะยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน ดังนั้นหากธนาคารกลางแคนาดายังคงมีท่าทีต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นด้านบวกและชี้แจงว่าตัวเลขที่ต่ำกว่าเป้าเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว USD/CAD ก็น่าจะไหลต่อลงไปที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่งได้เลยทีเดียว แต่หากท่าทีในการแถลงนโยบายในครั้งนี้แสดงถึงความกังวลและความระมัดระวัง ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ bottom ในระยะยาวของ USD/CAD