InfoQuest - ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าผันผวนในวันนี้ (13 ส.ค.) ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวผันผวนเช่นกันในวันจันทร์ (12 ส.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดภาคเช้าที่ระดับ 35,785.55 จุด เพิ่มขึ้น 760.55 จุด หรือ +2.17%, ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 17,128.78 จุด เพิ่มขึ้น 17.13 จุด หรือ +0.10% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 2,856.09 จุด ลดลง 2.11 จุด หรือ -0.07%
ส่วนดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวลง 0.17% และดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียดีดตัวขึ้น 0.10%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. ในวันพุธ (14 ส.ค.) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แต่จะทรงตัวที่ระดับ 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักเท่ากันต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และคาดว่าภายในสิ้นปี 2567 เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในเอเชียช่วงเช้าวันนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2/2567 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการเบื้องต้น และดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.2%
เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ขยายตัว 2.9% ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการเบื้องต้น และแข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7%
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แม้สถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็ตาม