InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดวานนี้ แม้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงเกินคาดในวันนี้
นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่บ่งชี้คาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงของผู้บริโภคในช่วง 1 ปีและ 5 ปีข้างหน้า
ณ เวลา 21.54 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,968.15 จุด บวก 214.40 จุด หรือ 0.54%
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ที่ต่ำกว่าคาดวานนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89.8% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 85.1% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 57.5% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 51.9% เมื่อวานนี้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 47.6% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 45.2% เมื่อวานนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย.เมื่อวานนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 3.3% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมิ.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
การที่ดัชนี CPI ทั่วไปในเดือนมิ.ย.ปรับตัวลงต่ำกว่า 0% เมื่อเทียบรายเดือน ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.4% ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานที่ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ถือเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2564
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนมิ.ย.ในวันนี้ ซึ่งแม้ว่าดัชนี PPI ดังกล่าวอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ทุกรายการ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.4% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 66.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 68.5 จากระดับ 68.2 ในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.0% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.0% ในเดือนที่แล้ว