InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งกว่า 100 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.52 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 106 จุด หรือ 0.3% สู่ระดับ 38,600 จุด
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค.
เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.65% หลังจากพุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนธ.ค.
หากไม่รวมยอดขายรถยนต์ ยอดค้าปลีกลดลง 0.6% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2%
นอกจากนี้ ตลาดขานรับถ้อยแถลงของนายออสแทน กูลส์บี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก ซึ่งระบุว่า เป้าหมายของเฟดในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ยังคงมีความเป็นไปได้ แม้ว่าเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่าคาดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และเฟดควรระวังมากกว่าต่อการที่รอนานเกินไปก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
"ต่อให้เงินเฟ้อดีดตัวสูงขึ้นอีกเป็นเวลาหลายเดือน สิ่งนี้ก็จะยังคงสอดคล้องกับแนวทางของเราในการทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย และผมไม่สนับสนุนให้เฟดรอจนกระทั่งตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีแตะ 2% จึงจะเริ่มทำการปรับลดดอกเบี้ย" นายกูลส์บีกล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่สภาวิเทศสัมพันธ์ที่กรุงนิวยอร์กวานนี้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายกูลส์บีช่วยผ่อนคลายความกังวลของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังจากที่นักลงทุนได้แห่เทขายหุ้นในวันอังคารจนส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 500 จุด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้ออกไปเป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนพ.ค. และส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 3 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยจำนวนมากกว่า 4 ครั้ง
นายกูลส์บีระบุว่า ทิศทางในระยะยาวของเงินเฟ้อ และแนวโน้มในวงกว้างมีความสำคัญมากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อเพียงเดือนเดียว
"ขอให้เราอย่าวิตกจนเกินเหตุเมื่อเห็นเงินเฟ้อเพียงเดือนเดียวสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งมันปรากฎชัดแล้วว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง"นอกจากนี้ นายกูลส์บีตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2% และบางครั้งยังต่ำกว่าระดับดังกล่าว
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรยึดโยงกับความเชื่อมั่นในแนวทางไปสู่เป้าหมาย ผมคิดว่าหากเราใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดนานเกินไป จะทำให้เราต้องเริ่มวิตกเกี่ยวกับภารกิจอีกด้านหนึ่งของเฟดในการรักษาเสถียรภาพของการจ้างงาน" นายกูลส์บีกล่าว