Investing.com - เหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดในสัปดาห์นี้คือการประชุมนโยบายทางการเงินของเฟด แม้ว่าจะไม่มีใครคาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยก็ตาม แต่ผู้ลงทุนต่างก็ต้องการสังเกตสัญญาณว่าเฟดจะอดทนรอได้อีกนานแค่ไหนจนกว่าจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมอีกครั้ง
Investing.com ได้รวบรวมห้าเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในปฏิทินเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ที่น่าจะส่งผลต่อตลาดมากที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด
แม้จะไม่มีการคาดหวังว่า เฟด จะดำเนินการใด ๆ ด้านอัตราดอกเบี้ยภายหลังการประชุมนโยบายทางการเงินเป็นเวลาสองวัน เริ่มตั้งแต่วันพุธนี้เวลา 14.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (18:00 GMT) โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระหว่าง 2.25%-2.5%
ประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ จะแถลงข่าวเป็นเวลา 30 นาทีภายหลังจากการเผยแพร่แถลงการณ์ของเฟด ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้รับความสนใจอย่างมาก
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเผยแพร่ข้อมูลการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดรวมถึงอัตราดอกเบี้ยด้วย หรือที่เรียกกันทั่วไปในนาม "แผนภาพแบบจุด" และเป็นไปได้สูงว่าข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าภายในปีนี้จะไม่มีการเพิ่มดอกเบี้ยอีก หรืออย่างมากที่สุดก็เพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น
และเป็นไปได้ว่าเฟดจะประกาศคำอธิบายเพิ่มเติมให้ทราบว่า เฟดมีกำหนดการที่จะหยุดแผนการลดขนาดงบดุลเมื่อใดอีกด้วย
2. รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย
ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเป็นที่น่าสนใจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข้อมูลจำนวนมากที่ออกมาเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอ ล่าสุด รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย ก็ยังออกมาโหมกระแสเข้าไปอีก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมามีการรายงานข้อมูลในเวลา 8:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (12:30 GMT) เดิมทีคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขประจำเดือนมีนาคมจะเท่ากับ 6.1 ทว่าตัวเลขที่ออกมากลับดิ่งลงสู่แดนลบอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2016 คือเท่ากับ -4.1
ผู้ลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจต่อข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วก็มีการประกาศตัวเลขที่คล้ายกันนี้ของนครนิวยอร์ค และตัวเลขของเดือนนี้ก็ดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2017 อีกเช่นกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
ในสัปดาห์นี้ ดัชนี PMI ของภาคการผลิตและกิจการบริการที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ก็เป็นที่น่าจับตามอง อีกทั้งการเผยตัวเลขยอดขายบ้านมือสองในวันพฤหัสบดีนี้อีกด้วย
3. การลงคะแนนเสียง Brexit อีกครั้ง
นางเธเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ย้ำเตือนคณะส.ส.ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ถ้าหากทางคณะยังไม่ยินยอมที่จะอนุมัติข้อตกลง Brexit ของนายกเมย์ การถอดถอนสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปอาจต้องเผชิญกับความยืดเยื้อไปอีกยาวนาน
ข้อตกลงของนายกเมย์ซึ่งเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะถอนตัวออกมาจากโครงสร้างอย่างเป็นทางการของสหภาพ กลับพ่ายแพ้ด้วยการโหวตปฏิเสธถึง 230 เสียงในรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 มกราคม และเมื่อวันที่ 12 มีนาคมก็ถูกปฏิเสธอีกครั้งด้วย 149 เสียง
แต่นายกเมย์ก็ยังคงดิ้นรนเพื่อหาแผนสำรอง ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอแผนการต่อส.ส.เป็นครั้งที่สามในสัปดาห์นี้ เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในวันอังคาร
เป็นระยะเวลากว่าสองปีครึ่งมาแล้วที่การเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อการถอนตัวยังคงเหมือนการพายเรือในอ่าง จากนี้ก็ยังไม่แน่นอนว่าผลสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร เมื่อตัวเลือกในปัจจุบันเหลือเพียงการยืดระยะเวลา การถอนตัวด้วยข้อตกลงของเมย์ การถอนตัวโดยไร้ข้อตกลง หรือแม้กระทั่งการลงประชามติอีกครั้ง
4. การประกาศนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ
คาดว่าผู้ว่าการฯ นายมาร์ค คาร์นีย์ และคณะผู้พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยจะยังคงต้นทุนการกู้ยืมไว้ที่ระดับเดิมเท่ากับ 0.75% โดย ธนาคารกลางอังกฤษ จะออกมาประกาศนโยบายในวันพฤหัสบดีนี้เวลา 8.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (12:00 GMT)
บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะลงคะแนนเสียง 9-0 เพื่อที่จะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้
นอกจาก Brexit และธนาคารกลางแล้ว ผู้ลงทุนต่างก็ให้ความสนใจกับรายงานอัตราการจ้างงานประจำเดือน อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อล่าสุดและยอดค้าปลีกเพื่อดูสัญญาณสถานะของเศรษฐกิจในอนาคต
เศรษฐกิจของอังกฤษเริ่มหันกลับมาซบเซาอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางความตึงเครียดจาก Brexit และผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
5. ตัวเลข PMI รวมจากฝั่งยูโรโซน
มีกำหนดการประกาศ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมจาก IHS Markit สำหรับฝั่งยูโรโซนในวันศุกร์นี้เวลา 5.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (09:00 GMT) โดยคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขจะปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 52.0
ดัชนีดังกล่าวเป็นการคำนวนจากการรวมข้อมูลผลผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและกิจการบริการ คนส่วนมากจึงเชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่จะบ่งบอกถึงสถานะทางเศรษฐกิจโดยรวมได้
ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ PMI ของยูโรโซน ทางฝรั่งเศสและเยอรมนีเองก็จะเผยตัวเลข PMI ของประเทศเช่นกัน ในเวลา 4:15 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (08:15 GMT) และ 4:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (08:30 GMT) ตามลำดับ
ในช่วงต้นเดือนนี้ ธนาคารกลางยุโรปได้เลื่อนการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจออกไปอย่างเร็วที่สุดคือปี 2020 และยังมีการปล่อยกู้แก่ธนาคารต่าง ๆ รอบใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่่ต่ำเพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจทางฝั่งยูโรโซนอีกด้วย
-- เนื้อหาข่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวรอยเตอร์
ติดตามเหตุการณ์สำคัญแบบเรียลไทม์ ผ่านทาง ปฏิทินเศรษฐกิจ ของ Investing.com