Investing.com - รอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุว่า ยอดการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนกรกฎาคม แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดครั้งใหญ่ที่สุดและข้อจำกัดด้านการเดินทางของประเทศ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งในเดือนสิงหาคมและกันยายน
การส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพิ่มขึ้น 20.27% ในเดือนกรกฎาคมจากปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 19.7% ในการสำรวจของรอยเตอร์ และเทียบกับการเพิ่มขึ้น 43.8% เมื่อเทียบปีต่อปีในเดือนมิถุนายน
ภาคการส่งออกเป็นเสมือนความหวังอันริบหรี่ของประเทศไทย เนื่องจากกำลังเผชิญกับการติดเชื้อโควิดที่เพิ่มจำนวนขึ้น อันทำให้รัฐบาลต้องออกข้อจำกัดด้านการเดินทางในภาคส่วนที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นี้
“มาตรการล็อกดาวน์อาจมีผลกระทบต่อภาคการผลิต เนื่องจากมีการปิดโรงงานผลไม้เพื่อการส่งออกบางแห่ง” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์กล่าวในการแถลงข่าว
การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งคุกคามภาคการส่งออกในช่วงเวลาที่อุปสงค์ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นและช่วงที่เงินบาทกำลังอ่อนค่าลง
ในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนโรงงานต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดมาตรการ "Bubble and Seal" ให้ชัดเจน และเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มเติม
“ภาคอุตสาหกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนเดียวสำหรับ GDP และการส่งออก และกำลังต้องการให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดภายในโรงงานต่าง ๆ ” สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสอท. กล่าวในการบรรยายสรุป
สินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของการส่งออก ซึ่งในเดือนก.ค.มีการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ตลอดจนคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบต่าง ๆ มากขึ้น
อุปสงค์จากตลาดสำคัญ ๆ เพิ่มสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบปีต่อปี ไปยังจีนเพิ่มขึ้น 41% ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 23% และไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 21%
การนำเข้าในเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 45.9% จากปีก่อนหน้า ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 43% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 183 ล้านดอลลาร์ในเดือนนี้
ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม การส่งออกเพิ่มขึ้น 16.2% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 28.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์