Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นในวันนี้ เนื่องจากการคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันเงินเยนที่อ่อนแอได้ทำให้เทรดเดอร์ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการแทรกแซงของรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้น
แต่การเพิ่มขึ้นของเงินเอเชียก็ถูกจำกัดโดยสัญญาณเชิง hawkish จากรายงานการประชุมเดือนมิถุนายนของเฟด ขณะที่ความคาดหวังเกี่ยวกับข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์ก็ยังคงทำให้เกิดความลังเล
เงินเยนปรับขึ้นบ้าง แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซง
เยนญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากความอ่อนแอของดอลลาร์ โดยคู่เงิน USDJPY ลดลง 0.2% หลังจากเกือบแตะระดับ 162 เมื่อวันพุธ
คู่เงินดังกล่าวเคบื่อนไหวอยู่ที่ระดับสูงกว่า 160 ซึ่งเป็นระดับที่เคยดึงดูดการแทรกแซงของรัฐบาลครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ด้วยเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ย้ำความมุ่งมั่นในการปกป้องค่าเงินเยน จึงทำให้เทรดเดอร์ระวังเกี่ยวกับการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
เทรดเดอร์คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากปริมาณการซื้อขายที่ต่ำในช่วงวันหยุดตลาดสหรัฐฯ วันที่ 4 กรกฎาคมในการแทรกแซง เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมก็เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดตลาดญี่ปุ่นเช่นกัน
เงินดอลลาร์ร่วงตามข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอ และเดิมพันอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ต่างขยับลงประมาณ 0.1% ในตลาดเอเชียวันนี้และขยายการขาดทุนจากคืนก่อน
ข้อมูล การจ้างงานของ ADP และรายงาน PMI นอกภาคการผลิต ที่อ่อนแอก็ทำให้เกิดการเดิมพันเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เย็นตัวลงเพิ่มขึ้น ซึ่งเทรดเดอร์คาดการณ์ว่าจะผลักดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น
ข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอยังทำให้เกิดการคาดการณ์ข้อมูล การจ้างงานนอกภาคเกษตร ในวันศุกร์ว่าอาจจะออกมาย่ำแย่
เทรดเดอร์ต่างก็เพิ่มการเดิมพันว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 จุดพื้นฐานในเดือนกันยายน โดย เครื่องมือ Fedwatch ของ CME ได้แสดงให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์โอกาสที่เกือบ 66% ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 59% ของเมื่อวันก่อน
แต่ รายงานการประชุม เดือนมิถุนายนของเฟดก็แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายยังไม่เชื่อว่าเงินเฟ้อกำลังลดลงถึงระดับที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่บางคนยังคงเห็นความจำเป็นของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อลดเงินเฟ้ออีกด้วย
เจ้าหน้าที่เฟดหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังได้กล่าวเตือนในสัปดาห์นี้ว่า แม้ธนาคารจะมีความคืบหน้าในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ก็ยังขาดความมั่นใจในการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยอยู่
แต่ถึงกระนั้น สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ก็ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัว คู่เงิน AUDUSD ของออสเตรเลียปรับตัวขึ้น 0.2% แม้ข้อมูลจะแสดงว่างบดุลการค้าของประเทศลดลงมากกว่าที่คาดในเดือนพฤษภาคมเพราะการส่งออกที่อ่อนแอก็ตาม
คู่สกุลเงิน USDCNY ของจีนยังคงทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบเจ็ดเดือน ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเศรษฐกิจจีน
คู่สกุลเงิน USDKRW ของเกาหลีใต้ลดลง 0.4% ขณะที่คู่สกุลเงิน USDSGD ของสิงคโปร์ขยับลง 0.1%
คู่สกุลเงิน USDINR ของรูปีอินเดียทรงตัวหลังขยับใกล้ระดับสูงสุดในสัปดาห์นี้