InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (31 พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นตามคาดในเดือนเม.ย. แต่แทบไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เร็วเพียงใด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ระดับ 104.64
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.24% สู่ระดับ 157.210 เยน และยูโรแข็งค่า 0.13% สู่ระดับ 1.0847 ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ยูโรแข็งค่าขึ้นหลังข้อมูลบ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านราคาในยูโรโซนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาดในเดือนพ.ค. ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้ยากลำบากมากขึ้น
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากในสัปดาห์นี้ ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสเปนเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองในตลาดที่ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด 82 รายที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในวันที่ 6 มิ.ย. และส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับลดลงอีกในเดือนก.ย. และธ.ค.
เยนอ่อนค่าลง ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแต่ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ของสัปดาห์นี้ เนื่องจากรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นย้ำเตือนเกี่ยวกับความผันผวนของสกุลเงินที่มากเกินไป
กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันศุกร์ที่ยืนยันว่าทางการญี่ปุ่นได้ใช้เงิน 9.79 ล้านล้านเยน (6.22 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินเยนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ช่วยไม่ให้ค่าเงินเยนร่วงทดสอบระดับต่ำสุดใหม่ แต่ไม่มีแนวโน้มที่จะพลิกฟื้นจากแนวโน้มการลดลงในระยะยาว
ข้อมูลเมื่อวันศุกร์บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคพื้นฐานในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค. แต่การขยายตัวของราคาซึ่งไม่รวมผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงนั้นลดลง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่