Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงในวันนี้ โดยเงินหยวนจีนแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสูงในสหรัฐทำให้เทรดเดอร์ส่วนใหญ่เอนเอียงไปที่เงินดอลลาร์
ความเชื่อมั่นต่อตลาดภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยความเสี่ยงยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะหลังจากมีความคิดเห็นเชิง hawkish จากธนาคารกลางสหรัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในภูมิภาคก็สร้างแรงกดดันเช่นกัน
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ขยับขึ้น 0.1% ในตลาดเอเชีย ขยายกำไรจากเซสชั่นก่อนหน้า หลังจากที่ Neel Kashkari ประธานเฟด Minneapolis กล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายยังไม่ได้ตัดตัวเลือกของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเพราะอาจต้องใช้ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ความคิดเห็นของเขาเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนข้อมูลดัชนีราคา PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดมั่นใจ
เงินหยวนอ่อนค่า USD/CNY แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน
เงินหยวนอ่อนค่าลง ธนาคารกลางจีนปรับอัตราแลกเปลี่ยนค่ากึ่งกลางให้ต่ำลงทำให้คู่เงิน USD/CNY แตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน
PBOC ยังคงรักษาการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อเงินหยวนเพื่อป้องกันความอ่อนแอของสกุลเงิน แต่ในตอนนี้ดูเหมือนจะมีการผ่อนคลายการควบคุมลงเล็กน้อย เนื่องจากแรงกดดันในการขายออกของเงินหยวนอย่างต่อเนื่องและความอ่อนแอในเศรษฐกิจจีน
ปักกิ่งยังคงเปิดตัวมาตรการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ถึงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศบ้าง แต่เทรดเดอร์ก็ยังคงสงสัยว่าปักกิ่งมีแผนที่จะจัดหาทุนและดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างไร เนื่องจากภาคส่วนดังกล่าวตกต่ำมานานกว่าสามปีแล้ว
เงินเยนอ่อนค่าจับตาความคิดเห็นของ BOJ
เงินเยนอ่อนค่าลงอีกในวันนี้ โดยคู่เงิน USD/JPY ขยับขึ้นเกิน 157 เยนต่อดอลลาร์
เงินเยนนี้ได้แรงหนุนแค่เพียงเล็กน้อยจากความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น
Adachi Seiji สมาชิก BOJ ได้เตือนว่าธนาคารกลางอาจต้องเข้มงวดนโยบายให้มากขึ้นหากความอ่อนแอของเงินเยนส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และเข้ายังคาดการณ์อีกว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วง
แต่ Seiji ยังกล่าวด้วยว่า BOJ จำเป็นต้องระมัดระวังในการเข้มงวดนโยบาย และนโยบายจะยังคงมุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นต่อไป
ดอลลาร์ออสเตรเลียได้แรงหนุนจากข้อมูล CPI ที่ร้อนแรง
ดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าเล็กน้อยในวันนี้ โดยคู่เงิน AUD/USD ปรับตัวขึ้นแม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อ CPI จะสูงเกินกว่าที่คาดไว้ในเดือนเมษายนก็ตาม
ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดความคาดหวังว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย จะยังคงอัตราดอกเบี้ยให้สูงไว้นานขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้เพื่อลดเงินเฟ้อ
สถานการณ์เช่นนี้ถือว่าดีต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย แต่ความเชื่อมั่นก็ได้ถูกจำกัดด้วยความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์และความกังวลของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในออสเตรเลีย
สกุลเงินเอเชียโดยรวมอ่อนค่าลง คู่เงิน USD/KRW ของวอนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่คู่เงิน USD/SGD ของดอลลาร์สิงคโปร์ขยับขึ้น 0.1%
คู่เงิน USD/INR ของรูปีอินเดียขยับขึ้น 0.1% และกำลังขยับกลับไปสู่ระดับสูงสุดที่เคยแตะในเดือนพฤษภาคม เหนือ 83 รูปีต่อดอลลาร์