Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในช่วงทรงตัวถึงต่ำลงในวันนี้และยังคงขาดทุนอย่างหนักจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นระยะเวลานาน ทำให้เทรดเดอร์ส่วนใหญ่หันเข้าหาเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ความกลัวที่ลดน้อยลงในตะวันออกกลางก็ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคผ่อนคลายลงได้บ้าง เนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วยความเสี่ยงนั้นดีขึ้น
แต่สกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ยังคงขาดทุนอย่างมากจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังเทรดเดอร์ลดความคาดหวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนมิถุนายนลงอย่างต่อเนื่อง
ดอลลาร์ทรงตัว จับตาสัญญาณอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ขยับลงเล็กน้อยในตลาดเอเชียวันนี้ แต่ยังคงเคลื่อนไหวใกล้กับระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนของช่วงต้นเดือนเมษายน
คาวมคาดหวังที่น้อยลงเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สูงเกินคาดและความเห็นเชิง hawkish จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด
โฟกัสในสัปดาห์นี้จึงยังอยู่ที่สัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากข้อมูลเงินเฟ้อดัชนีราคา PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของเฟดในวันศุกร์ และคาดว่าจะย้ำถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังคง sticky ในเดือนมีนาคม
ในสัปดาห์นี้ตลาดจะต้องจับตาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยมีข้อมูล PMI ประจำเดือนเมษายนที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจ
เงินหยวนจีนทรงตัวหลัง PBOC คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดี
คู่เงิน USD/CNY ของหยวนจีนเคลื่อนไหวเล็กน้อยในวันนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนคงระดับ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี ไว้ตามเดิม
โดยตัวเลข LPR ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก PBOC พยายามที่จะคงนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ธนาคารกลางยังคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในปีนี้ หลังจากปรับลด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีระยะ 5 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์
แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็คาดว่าจะทำให้เงินหยวนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นกัน คู่ USD/CNY ใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบห้าเดือนเหนือระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 7.2
เยนญี่ปุ่นทรงตัว ก่อนการประชุม BOJ
คู่ USD/JPY เยนญี่ปุ่นเคลื่อนไหวเล็กน้อยในวันนี้แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 154 ท่ามกลางการชะลอลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนระวังการแทรกแซงของรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่ USD/JPY ทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 34 ปีที่ 155
ความสนใจในสัปดาห์นี้จึงมุ่งไปที่ การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น ในวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกของธนาคารกลางหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคม สัญญาณใด ๆ เกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตและการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะต้องถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิด
สกุลเงินเอเชียโดยรวมเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย จากความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นเป็นเวลานาน
คู่ AUD/USD ของดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 0.3% หลังร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบห้าเดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คู่วอนเกาหลีใต้ USD/KRW เพิ่มขึ้น 0.5% ขณะที่คู่ USD/SGD ของดอลลาร์สิงคโปร์ทรงตัว
คู่เงินรูปีอินเดีย USD/INR เพิ่มขึ้น 0.1% ขยับเข้าใกล้ระดับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว