InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (3 ต.ค.) หลังจากข้อมูลแรงงานล่าสุดของสหรัฐทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.09% แตะที่ระดับ 107.0062 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9211 ฟรังก์ จากระดับ 0.9169 ฟรังก์ ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3710 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3673 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0918 โครนา จากระดับ 11.0539 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 148.9180 เยน จากระดับ 149.7380 เยน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0473 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0492 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2085 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2105 ดอลลาร์
ดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ซึ่งพบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ส่วนเงินเยนปรับตัวผันผวนตลอดทั้งวัน หลังจากนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลกำลังจับตาตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาด ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาด
นักลงทุนยังคงจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP และในวันพรุ่งนี้สหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ส่วนในวันศุกร์ สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนก.ย.จะลดลงสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือนส.ค.