InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ขานรับข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.23% แตะที่ระดับ 105.3620
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9040 ฟรังก์ จากระดับ 0.8969 ฟรังก์ในวันพุธ (20 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3469 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3437 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.1616 โครนา จากระดับ 11.0915 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 147.5180 เยน จากระดับ 147.9800 เยน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0662 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0686 ดอลลาร์ในวันพุธ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2291 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2362 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย
จอห์น คิลดัฟฟ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Again Capital LLC ในนิวยอร์กกล่าวว่า ข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้เฟดตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 0.7% สู่ระดับ 4.04 ล้านยูนิตในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.10 ล้านยูนิต
ขณะที่ Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ลดลง 0.4% ในเดือนส.ค. โดยดัชนี LEI ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูง และภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว