InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (6 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานาน หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคบริการที่แข็งแกร่งเกินคาด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% แตะที่ระดับ 104.8613
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8915 ฟรังก์ จากระดับ 0.8896 ฟรังก์ในวันอังคาร (5 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3653 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3638 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.1229 โครนา จากระดับ 11.1026 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 147.6940 เยน จากระดับ 147.7660 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0725 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0721 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2505 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2566 ดอลลาร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พุ่งขึ้นทะลุระดับ 5% เมื่อคืนนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 52.7 ในเดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขจ้างงาน
ทั้งนี้ ดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่
ผลสำรวจของ CME Group ระบุว่า หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี ISM ภาคบริการ นักลงทุนให้น้ำหนัก 48.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. และให้น้ำหนัก 93% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้