InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% แตะที่ระดับ 103.8847
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.1400 เยน จากระดับ 138.5240 เยนในวันอังคาร (23 พ.ค.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9051 ฟรังก์ จากระดับ 0.9013 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3598 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7255 โครนา จากระดับ 10.6239 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0750 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0775 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2361 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2417 ดอลลาร์
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ที่ไม่คืบหน้ายังคงทำให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด เนื่องจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันยังคงไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนบอกปัดข้อเรียกร้องของนายแมคคาร์ธีที่ต้องการให้ปรับลดงบประมาณรายจ่าย ขณะที่นายแมคคาร์ธีก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของปธน.ไบเดนที่ต้องการให้มีการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลด้วยการปรับเพิ่มภาษีที่เรียกเก็บจากคนร่ำรวย
ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งรวมถึงนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ และนายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิส สนับสนุนให้คณะกรรมการเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการครั้งที่ 2) และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนเม.ย.
สำหรับในวันศุกร์จะเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)