โดย Peter Nurse
ดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันจันทร์แข็งค่าขึ้นอย่างแข็งแกร่งในตลาดลงทุนช่วงเช้าของยุโรป สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า
เมื่อเวลา 03:00 น.ET (07:00 GMT) {{942611|ดัชนีดอลลาร์} ซึ่งติดตามค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับกลุ่มของสกุลเงินอื่นอีก 6 สกุล ซื้อขายสูงขึ้น 0.4% มีราคาอยู่ที่ 102.560 หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถทะลุ 103 ได้เป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งสัปดาห์
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง 1.8% ในเดือนมีนาคม ซึ่งตอนนั้นได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าวิกฤตในภาคธนาคารจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องชะลอการคุมเข้มทางการเงินชั่วคราว การลดความก้าวร้าวของเฟดเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
การวิเคราะห์ด้วยมุมมองนี้ได้รับความน่าเชื่อถือหลังจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้นมาแล้วในเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังลดความร้อนแรงลงมา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป องค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือที่รู้จักกันในชื่อ OPEC+ ประกาศลดการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในวันอาทิตย์ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดลงทุน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น
Hidehiro Joke นักยุทธศาสตร์ตลาดลงทุนจาก Mizuho Securities กล่าวว่า “เพราะอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สุดของนโยบายการเงินเฟด ตลาดจึงมีโอกาสน้อยที่จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นก่อนกำหนด”
EUR/USD ปรับตัวลดลง 0.2% มีราคาอยู่ที่ 1.0812 หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ 1.0788 ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน GBP/USD ปรับตัวลดลง 0.2% เป็น 1.2306
ข้อมูลเศรษฐกิจที่จะออกในช่วงปลายเซสชันยุโรปประกอบด้วยการรายงานตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั้งใน ยูโรโซนและสหราชอาณาจักร ข้อมูลเหล่านี้คาดว่าจะแสดงให้เห็นว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญนี้จะยังคงหดตัวในเดือนมีนาคมอยู่หรือไม่
USD/JPY เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 133.62 หลังจากที่ข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 49.2 ในเดือนมีนาคม ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนถูกแรงกดดันด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการตัดสินใจของกลุ่ม OPEC+ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีเพิ่มขึ้น 4.8 จุดพื้นฐานเป็น 4.110% โดยทั่วไป พันธบัตรประเภทนี้จะเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย
USD/CNY ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เป็น 6.8884 หลังจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจ PMI ภาคการผลิตของจีนจากมหาลัยไซซินแสดงให้เห็นว่าการเติบโตในภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม ตัวเลขที่ออกมานั้นอยู่ที่ 50 จุด ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในรอบแปดเดือนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 51.6 จุด
ข้อมูลชุดนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงหลังสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ครั้งแรกหลังยุคโควิด