โดย Noreen Burke
Investing.com -- การส่งสัญญาณจากเฟดว่า อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะครอบงำความเชื่อมั่นของตลาดในสัปดาห์นี้ หรือแม้กระทั่งต่อไปอีกหลายเดือนข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ การปรากฎตัวของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ต่อหน้าสภาคองเกรสในวันอังคารนี้ จะได้รับความสนใจเช่นเดียวกับความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายคนในระหว่างสัปดาห์ ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลจะได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งลือกันว่าเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อมาตรฐานของเฟด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นอเมริกาได้ร่วงลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหุ้นคุณค่าและดูเหมือนว่าจะดำเนินต่อไปในทิศทางเช่นนี้อย่างน้อยอีกระยะเวลาหนึ่ง ทางด้านธนาคารแห่งประเทศอังกฤษมีกำหนดการจะประชุมในวันพฤหัสบดี ซึ่งตลาดจะรอดูท่าทีเพื่อคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใหม่ ต่อไปนี้คือ ปัจจัยที่ต้องจับตาเพื่อเริ่มต้นสัปดาห์แห่งการซื้อขาย
1.ท่าทีที่พลิกผันของเฟด
เฟดสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อส่งสัญญาณว่าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปี 2023 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และยังเปรยด้วยว่า ขณะนี้ถึงจุดที่จะเริ่มหารือเรื่องการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 120 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนแล้ว
แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำจากนายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดแห่งเซนต์หลุยส์ ที่กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น เป็นการตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ ถือเป็น "เรื่องปกติ" ในขณะที่เศรษฐกิจกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหลังจากการระบาดของโควิด
คำถามที่ว่าเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้จะกระตุ้นให้เฟดลงมือเร็วกว่านี้หรือไม่นั้น ได้ครอบงำตลาดการเงินมาตั้งแต่ก่อนการประชุมนโยบาย
ขณะนี้ ความไม่แน่นอนอาจจะเพิ่มมากขึ้นก่อนการประชุมครั้งต่อไปของเฟดในเดือนกรกฎาคม และการประชุมประจำปีที่เมือง Jackson Hole ในปลายเดือนสิงหาคม ที่จะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2. คำปราศรัยของพาวเวลล์
ตลาดจะจับตาดูความคิดเห็นของประธานเฟดในวันอังคารนี้ ซึ่งเขาจะปราศรัยเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฉุกเฉินของเฟดและนโยบายการเงินในช่วงวิกฤตโควิด ต่อหน้าคณะอนุกรรมการคัดเลือกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายคนก็มีกำหนดจะปรากฏตัวในช่วงสัปดาห์นี้ด้วย และความคิดเห็นของพวกเขาจะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดกำลังมองหาเบาะแสใหม่เกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต
จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดแห่งนิวยอร์ก และเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดแห่งเซนต์หลุยส์ เตรียมขึ้นแถลงการณ์ในวันนี้ ขณะที่ลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดแห่งคลีฟแลนด์และแมรี เดลี ประธานเฟดแห่งซานฟรานซิสโก มีกำหนดการในวันอังคาร
เจ้าหน้าที่เฟดที่มีกำหนดแถลงการณ์ในสัปดาห์นี้ ยังรวมถึงนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแห่งแอตแลนต้า และเอริก โรเซนเกรน ประธานเฟดแห่งบอสตัน
3การร่วงลงของตลาดหุ้น
ดัชนี S&P 500 และดาวโจนส์ร่วงยับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นับว่าเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ แม้แต่ดัชนีแนสแด็กก็ปิดลบเช่นกัน
การร่วงลงดังกล่าวเป็นผลจากราคาของบรรดาหุ้นคุณค่าที่ลดลง การอ่อนตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาล
“ผมไม่แปลกใจที่เห็นตลาดมีการเทขายบ้าง เราได้เห็นราคาวิ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งมาเป็นระยะเวลานาน นี่เป็นช่วงของการขายทำกำไรบางส่วน” ทิม กริสกี้ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของ Inverness Counsel ในนิวยอร์กกล่าวกับรอยเตอร์
“สัปดาห์นี้ จะมีผู้ว่าการเฟดหลายคนมากล่าวปราศรัย และสถานการณ์จะเป็นเหมือนเดิม ผู้ว่าการบางคนอาจแข็งกร้าว และบางคนอาจจะผ่อนคลายกับนโยบายมากกว่า ดังนั้น คุณอาจจะเห็นการพลิกกลับไปกลับมาบ้าง” กริสกี้กล่าวเสริม
4. ข้อมูลเศรษฐกิจ
นักลงทุนจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับข้อมูลเศรษฐกิจ เพื่อประเมินว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อันส่งผลให้ราคาผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคมเร็วที่สุดในรอบเกือบ 13 ปี จะดำเนินต่อไปหรือไม่
ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่ายในเดือนพฤษภาคมจะเผยแพร่ในวันศุกร์ รวมถึงดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อมาตรฐานของเฟด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเกี่ยวกับยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน กิจกรรมภาคการผลิตและการบริการ และรายงานประจำสัปดาห์เกี่ยวกับการขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างใกล้ชิด จากการฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอในตลาดแรงงาน
5. การประชุมของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ
ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BoE) มีกำหนดจะจัดการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดในวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อย่างแอนดี้ ไฮเดน
ไฮเดนเป็นผู้สนับสนุนเพียงคนเดียวในคณะกรรมการนโยบายการเงินของ BoE ในการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพุ่งขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย 2% ในเดือนพฤษภาคมเป็นครั้งแรกในรอบสองปี
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว BoE กล่าวว่า จะค่อย ๆ ลดสัดส่วนการซื้อพันธบัตรรายสัปดาห์ การตัดสินใจล่าสุดของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษที่จะชะลอการเปิดเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดออกไปเป็นเวลาหนึ่งเดือน อาจส่งผลให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายยังคงจุดยืนเดิมไว้อย่างระมัดระวัง
แต่นักวิเคราะห์บางคนยังคงให้ความสำคัญกับการหารือเรื่องการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเริ่มหารือเกี่ยวกับการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว