สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อฝั่งยูโรโซนยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลง แต่อัตราการเติบโตของดัชนีราคายังค่อนข้างคงตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องการขจัดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีราคาผู้บริโภคของฝั่งยูโรโซนล่าสุดออกมาดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสี่ปีเท่ากับ 0.1% จากเดือนเมษายนที่ 0.3% ต่ำกว่าเป้าหมายของ ECB ที่กำหนดไว้เกือบ 2% หลังจากราคาสินค้าพลังงานทรุดลงถึง 12% เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระจายอย่างเป็นวงกว้างทั่วโลกและความขัดแย้งทางการเมืองของบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่
แต่ดัชนีราคาพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและสินค้าพลังงานกลับคงตัวที่ 1.1% ส่วนตัวเลขที่ไม่รวมสินค้าประเภทสุราและยาสูบก็คงอยู่ที่ระดับ 0.9%
แม้ว่าดัชนีราคาส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย ECB ก็ยังไม่มีอำนาจมากพอที่จะควบคุมการเติบโตของราคาผู้บริโภคในระยะสั้นได้ แต่กลับต้องการเลี่ยงไม่ให้ราคาผู้บริโภคคงอยู่ในระดับต่ำแทนซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรงที่ยากจะแก้ไข
ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกธนาคารกลางบางท่านยังได้ออกมาเตือนว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอัตราเงินเฟ้ออาจติดลบอีกด้วย โดยจะมีสาเหตุเบื้องต้นมาจากราคาสินค้าพลังงานที่ต่ำอย่างมากซึ่งเป็นปัจจัยที่โดยปกติแล้วธนาคารกลางมักมองข้าม
ถึงกระนั้น ECB ก็น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้หลังจากเศรษฐกิจยูโรโซนทรุดตัวลงเกือบหนึ่งในสิบในปีนี้ และขณะที่ในบางประเทศยังมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาอยู่เป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ด้วย