โดย Detchana.K
Investing.com - ยอดการส่งออกไทยเดือนมิถุนายนยังคงหดตัว 23.17%y/y แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -15.0% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนยอดการนำเข้าหดตัว18.05%y/y ทำให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ยอดการส่งออกจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นสะท้อนจากยอดสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทที่ต้องการลดความเสี่ยงปัญหา Supply Chain ในจีน ขณะเดียวกันการส่งออกก็จะมีแรงหนุนจากโอกาสที่บริษัทต่างชาติจะลดการพึ่งพาการผลิตในจีน และหันมาตั้งฐานการผลิตในไทย อาทิอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ติดตามรายละเอียดพร้อมประเด็นสำคัญที่นักลงทุนไทยควรรู้สำหรับวันนี้
1. ส่งออกเดือนมิถุนายน ยังคงหดตัว “23.17%”
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยรายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือน มิ.ย.2563 โดยไทยมีมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์ ลดลง 23.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 ส่วนการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 144,343 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.09% การนำเข้ามูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์ รวมติดลบ 12.62% ได้ดุลการค้า 10,701 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่การนำเข้ามูลค่า 14,834 ล้านดอลลาร์ ลดลง 18.05%y/y จากที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 18% ทำให้ไทยดุลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 1,610 ล้านดอลลาร์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เผยว่า แม้การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.จะมีอัตราการติดลบมากกว่าเดือน พ.ค. แต่แนวโน้มเริ่มดีขึ้นทั้งรายสินค้าและรายตลาดที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะมีหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยต่อการส่งออก ส่วนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของไทยยังต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงต่อเนื่อง, ความเสี่ยงจากการล็อกดาวน์รอบสอง ,สงครามการค้า ,ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน, จีนกับอินเดีย รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท
Krungthai Global Markets มองว่า การส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ยอดส่งออกจะได้รับแรงหนุนจากยอดการส่งออกทองคำหลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นใกล้จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีอยู่ในระดับ 3%-4% ของ GDP เนื่องจากยอดการนำเข้าจะฟื้นตัวได้ช้า
2.จับตาการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า
ด้านปัจจัยต่างประเทศสัปดาห์หน้าประเด็นที่ให้น้ำหนัก คือการประชุมธนาคารกลาง(Fed) วันที่ 28-29 ก.ค. ขณะที่ไทยจะรู้ผลคือ ตี 1วันที่ 30 ก.ค.รอบนี้ตลาดคาดจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ คงอัตราดอกเบี้ยฯนโยบาย 0.25 % และมาตรการ QE คาดไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ที่ บล. เอเชียพลัส ให้น้ำหนักในรอบนี้จะมีการส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทํา QE เป็น Yield Curve Control หรือไม่ (หลังจากปลายอาทิตย์ที่แล้ว อดีตประธานFed 2 ท่านคือ นาย Ben Bernanke และ นาง Janet Yellen ให้ความเห็นตรงกันว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วง Q-4Q63)
รวมทั้งรอดูท่าทีจากสหรัฐในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ คาดว่าจะมีวงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญ หรือมากกว่า แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังมีความขัดแย้งทางการเมืองในสภาคองเกรส อาจส่งผลกระทบต่อการ ออกมาตรการดังกล่าว
สหรัฐรายงานตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ล่าสุดที่ระดับ 1.4 ล้านราย สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.3 ล้านราย และยังถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ตัวเลขดังกล่าวมีการปรับขึ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐและน่าจะทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลข Nonfarm payrolls ของเดือนนี้ (ที่จะออกมาในช่วงต้นเดือนหน้า) จะอ่อนตัวลงจากเดือนมิถุนายนอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดตลาดคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.9 ล้านตำแหน่งเท่านั้น เทียบกับเดือนมิถุนายนที่อยู่สูงถึง 4.8 ล้านตำแหน่งถือเป็นปัจจัยกดดันที่รออยู่ในช่วงครึ่งแรกของเดือนหน้า
3. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาด GDP ปี 2563 หดตัว 6.5% YoY
บล. หยวนต้า ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ของไทยสำหรับปี 2563 เป็น -6.5% YoY (หดตัวมากสุดนับตั้งแต่ ปี 2541 ช่วงวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง ซึ่ง GDP หดตัวราว -7.6% YoY) เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วยการปรับลดสมมติฐานเกือบทุกกิจกรรม ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐ
กิจกรรมหลักที่ถูกปรับมากสุด คือ การส่งออกทั้งสินค้าและบริการ โดยการส่งออกสินค้าใน 2Q63 มีแนวโน้มแย่กว่าคาดการณ์เดิมมากและการส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยว มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางยังคงมีผลอยู่และ สถานการณ์โรค COVID-19 ในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังทรงตัวในระดับสูง แต่เชื่อว่าไตรมาส 2/2563 จะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย เพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มีความเข้มข้นมากสุดและใช้ระยะเวลามากสุด
ส่วนกรณีดีสุดที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย จะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุด อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมีความซับซ้อนเพราะการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นพร้อมกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นที่จะเดินทางข้ามประเทศและแต่ละประเทศยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หรือในอีกกรณี คือการค้นพบวัคซีน/ ยารักษา หากได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เร็วกว่าคาด (คาดการณ์ของเราคือปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า) จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค, ผู้ประกอบการ รวมถึงนักท่องเที่ยว เป็นบวกอย่างมากต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภค, การลงทุน, การส่งออก และท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว