โดย Zhang Mengying
Investing.com – ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม เนื่องมาจากอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด19 อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังคงอ่อนแอ
ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ของจีนเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อย โดยตัวเลขในเดือนเมษายนนั้นลดลงที่ 2.9% ในขณะที่การคาดการณ์ที่จัดทำโดย Investing.com คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.7%
การปรับตัวขึ้นในภาคอุตสาหกรรมได้รับแรงหนุนมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด19 และความต้องการทั่วโลกที่แข็งแกร่ง โดย การส่งออกของจีน เติบโตขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักในเดือนพฤษภาคมซึ่งเกินความคาดหมาย โดยข้อมูลเชิงบวกได้แสดงให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศจีนได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้
Fu Linghui โฆษกของ NBS กล่าวในการแถลงข่าวว่า "โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของประเทศของเราเอาชนะผลกระทบด้านลบจากโควิด (ได้ในเดือนพฤษภาคม) และกำลังแสดงโมเมนตัมในการฟื้นตัว" และเสริมว่าเขาคาดว่าจะมีการฟื้นตัวเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายนจากนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐ
“อย่างไรก็ตาม การเมืองระหว่างประเทศยังคงซับซ้อนและรุนแรง โดยมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกมากขึ้น การฟื้นตัวในประเทศของเรายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นโดยตัวชี้วัดการเติบโตยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในตัวชี้วัดนั้น”
อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังคงอ่อนแอท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโควิด19 ยอดค้าปลีก ลดลง 6.7% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ในเดือนเมษายนลดลง 11.1%
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนพฤษภาคม ขณะที่การคาดการณ์ที่จัดทำโดย Investing.com คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.0%
อัตราการว่างงานตามการสำรวจทั่วประเทศ ลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ในเดือนพฤษภาคมจาก 6.1% ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลในปี 2022 ที่คาดการณ์ว่าจะต่ำกว่า 5.5%
แม้ว่าข้อมูลจะแสดงให้เห็นตัวเลขภาคอุตสาหกรรมที่ดีเกินคาด แต่ก็ยังมีข้อกังวลบางประการเกี่ยวกับเส้นทางการฟื้นตัวของประเทศ มีกลุ่มผู้ป่วยโควิด19 กลุ่มใหม่ในเมืองปักกิ่ง ทางการได้กล่าวเมื่อวันอังคารว่าตอนนี้เมืองอยู่ใน "การแข่งขันกับเวลา" ซึ่งได้เพิ่มความกังวลว่าหากปักกิ่งเริ่มใช้มาตรการล็อคกาวน์อีกครั้งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก