Investing.com - อัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยังคงลดลง ทำให้เกิดแนวโน้มภาวะเงินฝืดในระยะยาว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในวันนี้แสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI หดตัวถึง 1% ในเดือนมีนาคม มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.5% และเปลี่ยนทิศทางจากเดือนที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 1%
เมื่อเทียบเป็นรายปีตัวเลข CPI เพิ่มขึ้นที่ 0.1% ต่ำกว่าการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.4% และชะลอตัวลงอย่างมากจาก 0.7% ในเดือนกุมภาพันธ์
แม้ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะได้รับการสนับสนุนบ้างในเดือนกุมภาพันธ์จากช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีน แต่ข้อมูลของวันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ
แนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำมาตลอดเกือบสี่ปี ประเทศยังมีแนวโน้มภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2023 เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่สามรถฟื้นตัวหลังช่วงโควิดได้
แนวโน้มดังกล่าวเด่นชัดมากขึ้นจากรายงานข้อมูล PPI ที่ลดลง 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีตามที่คาดไว้ ซึ่งลดต่ำลงอีกจากการหดตัวที่ 2.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ และอัตราเงินเฟ้อ PPI ยังลดลงเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน
การหดตัวของอัตราเงินเฟ้อ PPI ยังคงเกิดขึ้นแม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะดีขึ้นบ้างในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากข้อมูลของรายงาน PMI ในเดือนมีนาคม
จนถึงขณะนี้มาตรการกระตุ้นทางการเงินจากปักกิ่งก็ได้ให้การสนับสนุนเศรษฐกิจจีนอย่างจำกัด โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกลไกการเติบโตที่สำคัญของประเทศ
ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของ อัตราการว่างงาน
Fitch Ratings ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของจีนเป็น "negative" โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากหนี้รัฐบาลที่สูงและการชะลอตัวของการเติบโต หน่วยงานจัดอันดับยังกล่าวอีกว่าภาวะเงินฝืดถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจจีน