InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุด ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2566 ที่สูงกว่าคาดการณ์
ณ เวลา 23.56 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,631.45 จุด บวก 111.33 จุด หรือ 0.31%
หากปิดตลาดในแดนบวกวันนี้ ดัชนีดาวโจนส์จะทำสถิติปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 14 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นยาวนานที่สุดในรอบ 126 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2440
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับ GDP ประจำไตรมาส 2/2566 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0% และสูงกว่าตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1 ซึ่งมีการขยายตัว 2.0%
นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังรายงานดังกล่าวระบุว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ปรับตัวขึ้น 2.6% ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.2% และชะลอตัวจากระดับ 4.1% ในไตรมาส 1
ขณะเดียวกัน ตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์, คอมแคสต์ คอร์ป และแมคโดนัลด์ คอร์ป
ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า 81% ของบริษัทในดัชนี S&P 500 ที่ได้เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 แล้ว มีกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
โกลด์แมน แซคส์ออกรายงานระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แม้ว่านายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมเฟดวานนี้
"เรายังคงคาดหวังว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในวันที่ 26 ก.ค.ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายสำหรับวัฏจักรปัจจุบัน โดยนายพาวเวลกล่าวว่าเฟดจะให้ความสำคัญต่อข้อมูลเงินเฟ้อ ซึ่งเราก็คาดว่าตัวเลข CPI ในอนาคตจะชะลอตัวลง"
"เราคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และเฟดจะสรุปในเดือนพ.ย.ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงอย่างเพียงพอจนทำให้เฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป" รายงานระบุด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 221,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 3,750 ราย สู่ระดับ 233,750 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 59,000 ราย สู่ระดับ 1.69 ล้านราย