โดย Ambar Warrick
Investing.com – ราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี เนื่องจากแรงกดดันจากเงินดอลลาร์อ่อนลง ในขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ทำสถิติสูงสุดชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งแม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นเป็นช่วงที่ 3 ติดต่อกัน โดยตลาดมองข้ามปริมาณการเพิ่มขึ้นของ สินค้าคงคลังน้ำมันดิบ ที่มากกว่าที่คาด เนื่องจากปริมาณน้ำมันส่วนใหญ่มาจากการที่ฝ่ายบริหารของไบเดน ได้เบิกถอนมาจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) มาเติมให้
บรรยากาศของตลาดสดใสขึ้นหลังจากที่ข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่าการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชี้ให้เห็นถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่ฟื้นตัวแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
ความต้องการน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดย ดัชนีน้ำมันเบนซินคงคลัง ลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้วซึ่งมากกว่าที่คาด เทรดเดอร์กำลังเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตเชื้อเพลิงที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าคงคลังอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบแปดปี
ในวันพฤหัสบดี สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 0.3% เป็น 94.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 88.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเวลา 21:54 น. ET ( 01:54 GMT) สัญญาทั้งสองเพิ่มขึ้นระหว่าง 2% ถึง 4% ในวันพุธ และซื้อขายที่ระดับสูงสุดในรอบสองสัปดาห์
และยังมีปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันอีก นั่นคือการที่ค่าเงิน ดอลลาร์ ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนในวันพฤหัสบดี เนื่องจากเทรดเดอร์คาดการณ์ว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะบังคับให้ ธนาคารกลางอังกฤษ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในปีนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดน้ำมันดิบ เพราะทำให้การนำเข้าน้ำมันในสกุลเงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้น
ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับต่ำสุดประจำปีในเดือนนี้ หลังจากที่องค์การประเทศและพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ประกาศลดอุปทานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด19 ในปี 2020
ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย ก็คาดว่าจะทำให้อุปทานตึงตัวขึ้นในช่วงปลายปี
แต่สหรัฐฯ ขู่ว่าจะชดเชยความตึงเครียดนี้ด้วยการปล่อยน้ำมันออกจากคลัง SPR เพิ่มเติม ซึ่งทำเนียบขาวได้ปล่อยน้ำมันดิบประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรลจากคลัง SPR เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ระดับสินค้าคงคลังน้ำมันดิบเหลือระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1984
ความต้องการน้ำมันในจีนซึ่งผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลกก็คาดว่าจะยังคงอ่อนแอในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากจีนไม่มีแผนที่จะผ่อนคลายนโยบายที่เกี่ยวกับโควิด19 ลง