โดย Ambar Warrick
Investing.com – ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในวันพฤหัสบดีหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีท่าทีแข็งกร้าวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ราคาน้ำมันดิบร่วงลงในการซื้อขายที่ผันผวนในวันพุธ หลังจากที่เฟดปรับ อัตราดอกเบี้ยขึ้น 75 จุดพื้นฐานตามที่คาดไว้ แต่ความเห็นจากประธานเฟดเจอโรม พาวเวลล์ ซึ่งระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกมากขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด
พาวเวลล์กล่าวว่าขณะนี้ธนาคารกลางยินดีที่จะเสี่ยงต่อความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นและตลาดแรงงานในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ รวมถึงธนาคารกลางรายใหญ่อื่น ๆ คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงเช่นกัน โดยธนาคารกลางอังกฤษจะเริ่มการประชุมในวันนี้
ในวันพฤหัสบดี สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ซื้อขายในลอนดอนลดลง 0.4% เป็น 89.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ ลดลง 0.3% เป็น 82.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเวลา 20:39 น. ET (00:39 GMT)
อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโดยจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด อัตราดอกเบี้ยที่สูงยังจำกัดความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะความต้องการน้ำมันเบนซิน
ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในวันพฤหัสบดี ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบในต่างประเทศในปีนี้ตกต่ำลงเนื่องจากการนำเข้าน้ำมันมีราคาแพงขึ้น
ความกลัวต่อแนวโน้มเหล่านี้ได้ดึงราคาน้ำมันลงจากระดับสูงสุดประจำปีที่มีในช่วงสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการลดราคาน้ำมันได้ทำให้ตลาดเต็มไปด้วยน้ำมันดิบ เนื่องจากทำเนียบขาวได้ออกคำสั่งให้เบิกถอนน้ำมันออกจากคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงกลยุทธ์ในปีนี้อย่างต่อเนื่อง
แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบของรัสเซียหยุดชะงักได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าราคาอาจเด้งกลับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ประกาศระดมกำลังทหารบางส่วนในสัปดาห์นี้เพื่อ "ผนวก" ดินแดนยูเครนบางส่วน
โดยการรุกรานยูเครนครั้งแรกของรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้บริโภครายใหญ่ในยุโรปและเอเชียต้องพึ่งพามอสโกในการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งสงครามที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นนั้นได้ทำให้อุปทานตึงตัวและอาจทำให้ราคาพุ่งขึ้นอีกครั้ง
และฤดูหนาวที่เลวร้ายของยุโรปคาดว่าจะกระตุ้นความต้องการน้ำมันดิบ เนื่องจากหลายประเทศเปลี่ยนไปใช้ น้ำมันทำความร้อน แทน