InfoQuest - สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (28 ส.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ เพื่อสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 15.10 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ 2,537.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 79.80 เซนต์ หรือ 2.62% ปิดที่ 29.628 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 25.50 ดอลลาร์ หรือ 2.65% ปิดที่ 937.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 25.40 ดอลลาร์ หรือ 2.64% ปิดที่ 938.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.54% แตะที่ระดับ 101.094
เดวิด เมเกอร์ ผู้อำนวยการด้านการลงทุนจากบริษัท High Ridge Futures กล่าวว่า ราคาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนขายทำกำไรก่อนที่สหรัฐฯ จะเปิดเผยดัชนี PCE โดยหากดัชนี PCE ออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจะช่วยให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้นด้วย
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนัก 36.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
สหรัฐฯ มีกำหนดเปิดเผยดัชนี PCE ประจำเดือนก.ค.ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนมิ.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย.